ดาตั้มอ้างอิง คือ ระนาบ (Plane) แกน (Axis) หรือจุด (Point) ในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์ด้านรูปทรง (Perfect Form) มีความสมบูรณ์ด้านการจัดวางทิศทาง (Perfect Orientation) หรือมีความสมบูรณ์ด้านการจัดวางตำแหน่ง (Perfect Location) เพื่อใช้ในการอ้างอิงทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Axis) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) โดยการระบุดาตั้มอ้างอิงในแบบงานต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานเป็นหลักและการกำหนดดาตั้มอ้างอิงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T 1 กรอบจะมีดาตั้มอ้างอิงได้ไม่เกิน 3 อันดับ
ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ เป็นจำนวนทิศทางของพื้นผิวหรือชิ้นงานที่สามารถขยับหรือหมุนเปลี่ยนตำแหน่งได้ โดยชิ้นงานที่มีความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่มากที่สุดคือชิ้นงานที่ไม่มีการควบคุมตำแหน่ง (Position Control) หรือทิศทาง (Orientation Control) นั้นคือชิ้นงานนั้นไม่มีการควบคุมตำแหน่งอ้างอิงกับดาตั้ม โดยชิ้นงานนั้นจะมีความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ทั้งหมด 6 ระดับ (6 Degrees of Freedom) ประกอบด้วยระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน (Translation Freedom) 3 ระดับ ได้แก่
ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน X
ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Y
ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Z
โดยที่แนวแกน X Y Z จะเป็นแนวแกนอ้างอิงในอุดมคติที่ตั้งฉากซึ่งกันและกัน และระดับของการหมุนรอบแนวแกน (Rotational Freedom) 3 ระดับ ได้แก่
แนวการหมุน u ซึ่งเป็นการหมุนรอบแนวแกน X
แนวการหมุน v ซึ่งเป็นการหมุนรอบแนวแกน Y
แนวการหมุน w ซึ่งเป็นการหมุนรอบแนวแกน Z
ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ แสดงในภาพที่ 3-1
การวิเคราะห์ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ มีความสำคัญมากในระดับของการออกแบบชิ้นงานเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน เนื่องจากดาตั้มอ้างอิงที่กำหนดในแบบงานเป็นสิ่งที่ใช้ในการกำหนดระดับความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ของชิ้นงานเมื่ออยู่ในเงื่อนไขการประกอบ และการกำหนดดาตั้มอ้างอิงที่ถูกต้องจะนำไปสู่การกำหนดศูนย์เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการผลิตหรือการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงานที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน
เมื่อมีการกำหนดพื้นผิวอ้างอิงเพื่อควบคุมตำแหน่งของชิ้นงาน พื้นผิวอ้างอิงนั้นจะเรียกว่า ดาตั้ม (Datum) ซึ่งดาตั้มจะทำให้ชิ้นงานมีความอิสระในการเคลื่อนที่ไม่ครบทั้ง 6 ระดับ การกำหนดดาตั้มเพื่อใช้ในการควบคุมชิ้นงานด้วยสัญลักษณ์ GD&T จะกำหนดได้มากที่สุดไม่เกิน 3 อันดับ โดยจะถูกกำหนดตามลำดับการประกอบใช้งาน ได้แก่
ดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum)
ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum)
ดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum)
ระดับของความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ในแต่ละทิศทางจะถูกควบคุมการเคลื่อนที่จากดาตั้มอ้างอิง ซึ่งลักษณะของการควบคุมจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของดาตั้มอ้างอิง เช่น
ดาตั้มอ้างอิงเป็นระนาบ (Datum Plane) จะสามารถบังคับระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวแกนได้ 1 ระดับ และสามารถบังคับระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวการหมุนได้ 2 ระดับ
ดาตั้มอ้างอิงเป็นแกน (Datum Axis) จะสามารถบังคับระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวแกนได้ 2 ระดับ และสามารถบังคับระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวการหมุนได้ 2 ระดับ
ดาตั้มอ้างอิงเป็นจุด (Datum Point) จะสามารถบังคับระดับของความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวแกนได้ทั้ง 3 ระดับ แต่ไม่สามารถบังคับระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวการหมุนได้ ดังแสดงในภาพที่ 3-2
กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) เป็นระบบการอ้างอิงของชิ้นงานในแบบงาน ดังแสดงในภาพที่ 3-3 กรอบดาตั้มอ้างอิงประกอบด้วย
ระนาบ (Datum Plane) 3 ระนาบ ได้แก่ ระนาบ XY ระนาบ YZ และระนาบ XZ ที่ถูกสร้างตั้งฉากซึ่งกันและกัน
แกน (Datum Axis) 3 แกน ได้แก่ แกน X แกน Y และแกน Z ซึ่งถูกสร้างตั้งฉากซึ่งกันและกัน
ตำแหน่งจุดกำเนิด (Origin) หรือศูนย์ของชิ้นงาน 1 ตำแหน่งที่เกิดจากจุดตัดระหว่างระนาบทั้ง 3 หรือแกนทั้ง 3
ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 1 จะถูกสร้างขึ้นอย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องอ้างอิงกับระนาบ แกนหรือจุดใดๆ
ภาพที่ 3-4 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 1 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 3 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มโดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมาย ได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบโดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มไปประกบให้แนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง
ภาพที่ 3-5 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิง ในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลางเป็นดาตั้มอันดับที่ 1 ซึ่งแนวแกนอ้างอิง (Datum Axis) คือ แกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Mating Envelope, U-AME) ของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มในแบบงาน โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า รูที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงจะถูกนำไปประกอบกับเพลาที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของอีกชิ้นงานหนึ่ง
ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 2 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1
ภาพที่ 3-6 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 2 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม และต้องตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบ โดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ไปประกบกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง
ภาพที่ 3-7 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิง ในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลาง (Center Line) เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ซึ่งแนวแกนอ้างอิง (Datum Axis) คือ แกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า เพลาที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 จะถูกนำไปประกอบกับรูที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง
ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 3 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2
ภาพที่ 3-8 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 1 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม และระนาบนี้จะต้องจัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบ โดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ไปประกบกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 และพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 2 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง
ส่วนภาพที่ 3-9 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้ระนาบกลาง (Center Plane) เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ร่องของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 จะถูกนำไปประกอบกับชิ้นงานแท่งสี่เหลี่ยม โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง และรูที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ยังคงประกอบกับเพลาของอีกชิ้นงานหนึ่ง ดังนั้นดาตั้มอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 จะก่อให้เกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) เพื่อใช้ในการอ้างอิงทิศทางและตำแหน่งของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Line) หรือจุด (Point) ในส่วนอื่นๆ ของชิ้นงาน
เมื่อชิ้นงานมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นระนาบดาตั้ม แกนดาตั้มหรือจุดดาตั้มครบทั้ง 3 อันดับ จะเกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยอัตโนมัติ ดังแสดงในภาพที่ 3-10
พื้นผิวดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature) คือพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิง ซึ่งการควบคุมรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือการจัดวางตำแหน่ง (Location) ของพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดีและมีค่าความเบี่ยงเบนทางด้านรูปร่างรูปทรง (GD&T) น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดการควบคุมรูปร่างรูปทรงใดๆ ลงไปในแบบงาน ดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ที่เกิดจากพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์แบบเสมอแม้ว่าพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะมีความไม่สมบูรณ์แบบทางด้านรูปทรง ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (A)
ในกรณีที่มีการใช้พื้นผิวดาตั้มอ้างอิงมากกว่า 1 ผิว การกำหนดสัญลักษณ์ดาตั้มอ้างอิงจะถูกกำหนดที่เส้นลูกโซ่ (Phantom Line) ที่เขียนเชื่อมต่อระหว่างพื้นผิวดาตั้มที่ต้องการ ซึ่งดาตั้มอ้างอิงจะถูกสร้างขึ้นมาเสมือนว่าพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงนั้นเป็นพื้นผิวเดียวกัน ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (B)
ถ้าไม่มีการใช้เส้นลูกโซ่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวดาตั้ม และมีการกำหนดสัญลักษณ์ดาตั้มที่พื้นผิวใดพื้นผิวหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดาตั้มอ้างอิงจะถูกสร้างจากพื้นผิวนั้นๆ เท่านั้น ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (C)
พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature Simulator) เป็นการกำหนดให้พื้นผิว (Feature) ของอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบค่าความเบี่ยงเป็นทางด้านรูปร่างรูปทรง (GD&T) เป็นตัวแทนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ซึ่งพื้นผิวที่ถูกใช้เป็นพื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงต้องมีการควบคุมรูปร่างรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือการจัดวางตำแหน่ง (Location) ที่ดีเมื่อเทียบกับพื้นผิวดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature) ของชิ้นงาน ดังแสดงในภาพที่ 3-12
ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target) เป็นการกำหนดบางส่วนของพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานให้เป็นดาตั้ม ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (Area) แนวเส้นใดเส้นหนึ่ง (Line) หรือจุดใดจุดหนึ่ง (Point) เพื่อใช้ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)
ภาพที่ 3-13 เป็นตัวอย่างของชิ้นงานที่มีการกำหนดดาตั้มเป้าหมาย โดยดาตั้ม A จะมีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาตั้มเป้าหมาย A1 A2 A3 และ A4 โดยดาตั้มแต่ละตำแหน่งจะมีการกำหนดพื้นที่ที่ใช้เป็นดาตั้มให้อยู่ในขอบเขตเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มม. โดยตำแหน่งของดาตั้มเป้าหมาย A จะต้องกำหนดด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เท่านั้น ซึ่งดาตั้ม A จะถูกวิเคราะห์เป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ดาตั้ม B เป็นแกนดาตั้ม (Datum Axis) มีเพียง 1 ตำแหน่ง คือ ดาตั้มเป้าหมาย B1 ซึ่งแบบงานกำหนดแนวแกนดาตั้มเป้าหมายด้วยเส้นลูกโซ่ (Phantom Line) ที่มีการกำหนดตำแหน่งของแนวเส้นด้วยขนาดในอุดมคติเมื่อเทียบกับดาตั้ม A ส่วนดาตั้มเป้าหมาย C เป็นจุดดาตั้ม (Datum Point) มีเพียง 1 ตำแหน่งเช่นกัน คือ ดาตั้มเป้าหมาย C1 ซึ่งแบบงานกำหนดจุดดาตั้มที่มีการบอกตำแหน่งของตำแหน่งจุดดาตั้มนั้นด้วยขนาดในอุดมคติเมื่อเทียบกับดาตั้ม A และดาตั้ม B
พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature Simulator) ของดาตั้มเป้าหมาย A เป็นสลักทรงกระบอกผิวหน้าเรียบ (Flat End Pin) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มม. จำนวน 4 ตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดระนาบดาตั้มอ้างอิง พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงของดาตั้มเป้าหมาย B เป็นแนวขอบข้างของสลักทรงกระบอกซึ่งก่อให้เกิดแนวการอ้างอิงที่เป็นเส้นตรง ส่วนพื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงของดาตั้มเป้าหมาย C เป็นส่วนปลายของสลักทรงกระบอกปลายทรงกลม (Ball End Pin) ซึ่งก่อให้เกิดตำแหน่งอ้างอิง 1 ตำแหน่ง
ฟีเจอร์ (Feature) หรือฟีเจอร์ออฟไซซ์ (Feature of Size) ต้องมีการควบคุมคุณลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
การควบคุมความเรียบผิว (Surface Roughness) เป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นผิวฟีเจอร์
การควบคุมรูปทรง (Form Control) เป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นผิวฟีเจอร์ โดยลักษณะของการควบคุมจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของพื้นผิว เช่น ความตรง (Straightness) ความราบ (Flatness) ความกลม (Circularity) ความเป็นทรงกระบอก (Cylindricity) รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) หรือรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface)
การจัดวางทิศทาง (Orientation Control) เป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นกับพื้นผิวฟีเจอร์ที่ต้องมีการอ้างอิงดาตั้ม โดยลักษณะของการควบคุมจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบ เช่น ความตั้งฉาก (Perpendicularity) ความขนาน (Parallelism) ความเป็นมุม (Angularity) รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) หรือรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface)
การจัดวางตำแหน่ง (Location Control) เป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นกับฟีเจอร์ออฟไซซ์ที่ต้องมีการอ้างอิงดาตั้ม โดยลักษณะของการควบคุมจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบ เช่น ความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ความสมมาตร (Symmetry) หรือความร่วมศูนย์ร่วมแกน (Concentricity)
การควบคุมขนาด (Size Control) เป็นการควบคุมที่เกิดขึ้นกับพื้นผิวฟีเจอร์ที่ต้องมีการอ้างอิงดาตั้ม โดยลักษณะของการควบคุมจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ออกแบบ เช่น ระยะห่าง (Linear Dimension) เส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter) หรือรัศมี (Radius)
ภาพที่ 3-14 เป็นตัวอย่างแบบงานที่มีการควบคุมพื้นผิวครบสมบูรณ์ โดยการควบคุมต่างๆ ที่กล่าวมาอาจจะมีการระบุลักษณะของการควบคุมพร้อมทั้งค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนลงไปโดยตรงในแบบงาน (Define Tolerance) เป็นการควบคุมจากค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) หรืออาจเกิดการควบคุมโดยอัตโนมัติ (Automatic Geometric Tolerance) จากกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการกำหนดขนาด เช่น กฎข้อที่ 1 ก็ได้