สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกคุณภาพของชิ้นงานเครื่องกล คือ ค่าความเรียบผิว (Surface Roughness) โดยการกำหนดค่าความเรียบผิวจะสอดคล้องกับเจตนาของผู้ออกแบบเสมอ
และนี่ก็คือ 5 เหตุผลของการควบคุมความเรียบผิว
เหตุผลด้านเงื่อนไขการใช้งาน (Functionality and Performance) ความเรียบผิวจะส่งผลต่อเงื่อนไขการประกอบซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของชิ้นส่วนนั้นๆ เช่น เราต้องควบคุมความเรียบผิวของซีลให้ได้ค่าที่เหมาะสมเพื่อเหตุผลของการยึดเกาะลดการลื่นไถลในการประกอบ
เหตุผลทางด้านความสวยงาม (Aesthetics and appearance) แน่นอนว่าความเรียบผิวจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ของชิ้นงาน เช่น ผิวของชิ้นงานที่เรียบจะสามารถเพิ่มการดึงดูดสายตาของผู้ใช้งานความรู้สึกว่าชิ้นงานนั้นมีมูลค่าสูง ในขณะที่ผิวของชิ้นงานที่อยากจะส่งผลต่อการรู้สึกสัมผัส
เหตุผลด้านการเคลือบผิว (Surface Treatment and Coating) ความเรียบผิวจะส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะ เช่น กาว สี สารเคลือบผิว หรือวัสดุชุบผิว ในบางครั้งอาจจะต้องมีการเตรียมผิวให้มีความขรุขระมากขึ้น เพื่อให้เกิดการยึดเกาะของวัสดุเคลือบผิวที่ดีขึ้น
เหตุผลด้านการผลิต (Manufacturing and Production) ความเรียบผิวจะมีส่วนสำคัญกับกระบวนการผลิตในแง่ของความแม่นยำและความสม่ำเสมอในกระบวนการตัดเฉือน กระบวนการขึ้นรูป หรือกระบวนการตกแต่ง เช่น ผิวที่ไม่เรียบ อาจจะส่งผลต่อการสึกหรอของเครื่องมือตัด พลังงานที่ใช้ในการตัด แรงที่ใช้ประกอบ รวมถึงความเสถียรของตำแหน่งอ้างอิงชิ้นงาน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและคุณภาพของชิ้นงาน
เหตุผลด้านการสึกหรอและการหล่อลื่น (Wearing and Lubrication) ความเรียบผิวที่เหมาะสมจะส่งผลต่ออายุการใช้งานเมื่อชิ้นส่วนเกิดการเสียดสี สามารถเพิ่มอายุการใช้งานของน้ำมันหล่อลื่น และลดการสึกหรอของพื้นผิวได้
โดยรวมแล้วการควบคุมความเรียบผิวจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นผิวนั้นมีคุณภาพ สามารถประกอบได้อย่างถูกต้อง ดูดีสวยงาม มีความทนทานด้านการสึกหรอ มีอายุการใช้งานที่เหมาะสม
ดังนั้นเราจะต้องมั่นใจว่าเราสามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนได้ตรงตามข้อกำหนดในแบบงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะผลิตได้ในราคาต้นทุนที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน