วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับสภาวะเนื้อวัสดุแบบต่างๆ กัน ซึ่งสภาวะเนื้อวัสดุ อาจเรียกว่า Material Condition หรือ Material Requirement มีจุดประสงค์เพื่อการพิจารณาปริมาณเนื้อวัสดุในเงื่อนไขของขนาดที่แตกต่างกันออกไป
การพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุจะสามารถทำได้กับขนาดที่เป็น Feature of Size เท่านั้นนะครับ
ซึ่ง Feature of Size จะเป็นขนาดมีพิกัดความคลาดเคลื่อนเสมอ และเป็นที่ทราบกันดีว่าค่าความคลาดเคลื่อนจะก่อให้เกิดขนาดที่มีค่ามากที่สุดและค่าน้อยที่สุด
เรามาดูตัวอย่างกันครับ
จากแบบงานที่เห็น ขนาดของแท่งทรงกระบอกมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 40.1 มีค่าน้อยที่สุดเท่ากับ 39.9
ขนาดของแท่งสี่เหลี่ยมมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 24.1 มีค่าน้อยที่สุดเท่ากับ 23.9
ขนาดของรูมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 40.1 มีค่าน้อยที่สุดเท่ากับ 39.9
และขนาดของร่องมีค่ามากที่สุดเท่ากับ 24.1 มีค่าน้อยที่สุดเท่ากับ 23.9
ในส่วนนี้คือการวิเคราะห์ขนาดและค่าความคลาดเคลื่อนในแบบงานครับ ซึ่งเป็นความเข้าใจพื้นฐานด้านการอ่านแบบที่เราต้องรู้
เรามาพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุแบบแรกกันครับ
เป็นขนาดของ Feature of Size ที่ก่อให้เกิดปริมาณของเนื้อวัสดุมากที่สุดที่เป็นไปได้
เราจะเรียกสภาวะนี้ว่า สภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุด เราอาจะเรียกทับศัพท์เลยว่า Maximum Material Condition (MMC) หรือ Maximum Material Requirement (MMR)
สภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเพลามีขนาดใหญ่ที่สุดหรือรูมีขนาดเล็กที่สุด
ดังนั้นขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดของแท่งทรงกระบอกจะมีค่าเท่ากับ 40.1
ขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดของแท่งสี่เหลี่ยมมีค่าเท่ากับ 24.1
ขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดของรูมีค่าเท่ากับ 39.9
และขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดของร่องมีค่าเท่ากับ 23.9
สภาวะเนื้อวัสดุแบบต่อมา เป็นสภาวะด้านตรงกันข้ามกับสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุด นั่นคือสภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุด เราอาจะเรียกทับศัพท์ว่า Least Material Condition (LMC) หรือ Least Material Requirement (LMR)
เป็นสภาวะที่ขนาดของฟีเจอร์ออฟไซด์ก่อให้เกิดปริมาณของเนื้อวัสดุน้อยที่สุดที่เป็นไปได้
สภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเพลามีขนาดเล็กที่สุดหรือรูมีขนาดใหญ่ที่สุด
ดังนั้นขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุดของแท่งทรงกระบอกจะมีค่าเท่ากับ 39.9
ขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุดของแท่งสี่เหลี่ยมมีค่าเท่ากับ 23.9
ขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุดของรูมีค่าเท่ากับ 40.1
และขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุดของร่องมีค่าเท่ากับ 24.1
และในกรณีที่ไม่พิจารณาขนาดของชิ้นงานในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดหรือสภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุด
เราจะเรียกว่าสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุหรือเราอาจะเรียกทับศัพท์ว่า Regardless of Feature Size (RFS)
ในการเขียนแบบสัญลักษณ์ GD&T ถ้าเราต้องการให้ผู้อ่านแบบทำการพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด เราจะกำหนดสัญลักษณ์ Modifier M (MMC) ในช่องของค่าความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปร่างรูปทรง
ถ้าต้องการพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด เราจะกำหนดสัญลักษณ์ Modifier L (LMC)
แต่ถ้าไม่มีการกำหนดสัญลักษณ์ Modifier ก็จะถือว่าให้ทำการพิจารณาในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS)
สุดท้ายนี้ อย่าลืมนะครับว่า การพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชิ้นงานมีการกำหนดขนาดที่เป็นฟีเจอร์ออฟไซส์เท่านั้น
และในทางกลับกัน ขนาดที่เป็นฟีเจอร์ออฟไซส์ก็ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาสภาวะเนื้อวัสดุเช่นเดียวกัน