สัญลักษณ์ในแบบงาน จะต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ และแปลความหมายได้เพียงอย่างเดียว
เมื่อก่อนเราอาจจะเคยเห็นสัญลักษณ์ความหยาบผิวที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหลายๆ รูปมาต่อกัน ซึ่งช่างรุ่นแก่อย่างเราๆ จะเรียกว่า ความเรียบผิวหนึ่งฟัน สองฟัน สามฟัน สี่ฟัน ทำให้ความหยาบผิวถูกแบ่งออกเป็นแค่ 5 ระดับเท่านั้น แต่เงื่อนไขการใช้งานจริงๆ ของความหยาบผิวจะถูกแบ่งระดับมากกว่านั้น
สัญลักษณ์ความหยาบผิวสมัยใหม่ก็เลยใช้วิธีการกำหนดตัวเลข รหัสและข้อความ ตามเงื่อนไขที่ผู้ออกแบบต้องการลงไปในแบบงานโดยตรง ความต้องการที่เกี่ยวข้องกับความหยาบผิวของชิ้นงาน เช่น
ค่าความหยาบผิวเฉลี่ย (Average Roughness, Ra)
กรรมวิธีการผลิต (Machining Method) เช่น MILLING, TURNING, GRINDING
การกำหนดพารามิเตอร์ (Parameter) ของผิว ได้แก่ P-profile, W-profile, หรือ R-profile
การกำหนดรูปแบบ (Characteristic) ของความหยาบผิว เช่น Rz, Rmax
การกำหนดลวดลายของพื้นผิว (Lay direction)
ค่าเผื่อของพื้นผิวหลังจากการผลิต (Machine Allowance)
ระยะความยาวตรวจสอบค่าความหยาบผิว (Sample Length)
การกำหนด Transmission Band ว่าจะใช้ Short-wave หรือ Long-wave filter
การกำหนดขอบเขต Upper หรือ Lower Specification Limit
การทำความเข้าใจเรื่องความหยาบผิว เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่แยกการวิเคราะห์ออกจากการแปลความหมายสัญลักษณ์ GD&T โดยส่วนที่ยากในการแปลความหมายแบบงานไม่ได้อยู่ที่การอธิบายสิ่งที่ปรากฏในแบบ แต่อยู่ที่การอธิบายสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแบบต่างหากครับ