เมื่อพูดถึงสัญลักษณ์ GD&T เรามักจะนึกถึงสัญลักษณ์ที่ใช้ในการควบคุมรูปร่างรูปทรงจำนวน 5 กลุ่ม สัญลักษณ์ ได้แก่ รูปทรง (Form) ทิศทาง (Orientation) ตำแหน่ง (Location) ความเบี่ยงเบนจากการหมุน (Runout) และรูปโครงร่าง (Profile)
แต่จริงๆ แล้ว GD&T มีส่วนเชื่อมโยงที่สำคัญและจำเป็นมากกว่านั้น การรู้แค่เพียงแค่สัญลักษณ์อย่างเดียวไม่อาจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ความเชื่อมโยงที่ว่า คือ นิยาม กฏเกณฑ์ ข้อกำหนด ข้อจำกัด การแปลความหมาย เงื่อนไข ความต้องการ ซึ่งทุกอย่างจะถูกกำหนดลงไปในแบบงาน
วันนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบบงานที่ดี นั่นก็คือเรื่องของกระดาษเขียนแบบ กระดาษเขียนแบบที่เราใช้ในงานในการเขียนแบบทางด้านเครื่องกลเป็นขนาดเดียวกับขนาดกระดาษที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป คือ กระดาษใน Serie A ตามมาตรฐาน ISO 216 หรือ DIN 476 โดยขนาด A0 จะมีขนาดใหญ่สุดและไล่เรียงลงมาเป็น A1 A2 A3 A4 A5 ...
กระดาษ A0 ขนาด 841x1189 มม. พื้นที่ใช้งาน 1 ตร.ม.
กระดาษ A1 ขนาด 594x841 มม. พื้นที่ใช้งาน 0.5 ตร.ม.
กระดาษ A2 ขนาด 420x594 มม. พื้นที่ใช้งาน 0.25 ตร.ม.
กระดาษ A3 ขนาด 297x420 มม. พื้นที่ใช้งาน 1,250 ตร.ซม.
กระดาษ A4 ขนาด 210x297 มม. พื้นที่ใช้งาน 625 ตร.ซม.
ขนาดกระดาษเล็กสุดที่ใช้ในการเขียนแบบ คือ A4 และจุดเด่นของกระดาษ Serie A ก็คือ ไม่ว่าเราจะสั่งพิมพ์งานจากต้นฉบับออกมาในกระดาษไซส์ไหนก็ตาม รูปภาพที่ถูกพิมพ์ออกมาจะมีสัดส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือมี Scale ที่ย่อ-ขยาย เท่าๆ กันในทุกด้าน
ปัจจุบัน การใช้กระดาษเขียนแบบเริ่มน้อยลงและจะใช้กระดาษก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ หลายโรงงานเริ่มพัฒนาระบบการจัดการไปสู่รูปแบบของ Model-Based Enterprise (MBE) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาทางด้านวิศวกรรม ด้วยการใช้ไฟล์แบบงาน 3 มิติ (3D Model-based definition, MBD) มาใช้สื่อสารระหว่างส่วนออกแบบกับส่วนการผลิต (Product and Manufacturing Information, PMI) เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพ
นี้คือเรื่องที่ 1 จากหลายๆ เรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับ GD&T แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาพูดคุยอธิบายไม่นานเวลาฝึกอบรม แต่ผมก็มักจะเริ่มต้นการอบรมเรื่อง GD&T ด้วยประโยคว่า “ทราบไหมครับว่า มีอะไรซ่อนอยู่ในกระดาษเขียนแบบบ้าง?”