Production Planning Process for Milling Operation
การวางแผนกระบวนการกัดงาน
การวางแผนกระบวนการกัดงาน
อันดับแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่า State ในการผลิตชิ้นงานแบบ New Product จะมี stage หลักๆ อยู่ 5 Stage คือ
การรับข้อกำหนดจากลูกค้า (Drawing & Requirement Defined)
การออกแบบกระบวนการผลิต (Production Concept Design)
การเริ่มพัฒนากระบวนการ (Initial Process Development)
การเริ่มผลิตช่วงต้น (Pre-Production)
การผลิตแบบต่อเนื่อง (Production)
ซึ่งการออกแบบและวางแผนกระบวนการกัดงาน (Production planning for Milling operation ) เป็นส่วนหนึ่งของ stage การเริ่มพัฒนากระบวนการ
เราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง เพื่อทำให้การออกแบบและวางแผนการกัดงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ผลิตงานได้เร็วที่สุด โดยใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด
อย่างน้อย เราจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในส่วนต่างๆ 6 ส่วนต่อไปนี้
1. รู้เงื่อนไขของชิ้นงาน
แบบงานและข้อกำหนดจากลูกค้า จะทำให้เรารู้ว่าเราจะผลิตอะไรและมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ในการวางแผนการกัดงาน ในส่วนของชิ้นงาน (Workpiece parameter) จะมีอยู่ 3 ส่วนหลัก คือ
วัสดุชิ้นงาน (Material) เช่น ราคา ความแข็ง ความยากง่ายในการขึ้นรูป ลักษณะของเศษตัด
รูปร่างรูปทรงของชิ้นงาน (Geometry) เช่น มีส่วนที่เป็นผนังบาง รูปร่างของชิ้นงานที่ซับซ้อน มีมุมเอียง มุมหลบ เป็นหลุมลึกและแคบ
ค่าความคลาดเคลื่อนต่างๆ (Tolerance) เช่น ค่าความเรียบผิว ค่าความคลาดเคลื่อนของขนาดและรูปทรง การบิดตัวหลังการขึ้นรูป
2. รู้เงื่อนไขของเครื่องจักร
เครื่องจักรเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการกัดงาน สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร (Machine parameter) จะมี 3 เรื่องหลักๆ คือ
ส่วนของโครงสร้าง (Structure) เช่น ขนาดพื้นที่ในการทำงาน จำนวนแกนการเคลื่อนที่ รูปแบบของ spindle ความแข็งแรงและความมั่นคงของเครื่องจักร
ส่วนของคุณสมบัติเครื่อง (Specification) เช่น Power และ Torque ของเครื่อง ค่า accuracy ของเครื่อง จำนวนแกนการเคลื่อนที่ ระบบหล่อเย็น รูปแบบของเครื่องว่าเป็นเครื่องแนวตั้งหรือเครื่องแนวนอน
ระบบควบคุมเครื่อง (Controller system) เช่น Format ของภาษาเครื่องในการทำโปรแกรม รูปแบบของการควบคุมแกน HSM ฟังก์ชัน ระยะเวลาประมวลผลคำสั่ง
3. รู้เงื่อนไขการจับยึด
ในกระบวนการกัดงาน จะมีการจับยึดชิ้นงานและเครื่องมือตัดเสมอ ซึ่งจะมีเงื่อนไขของการจับยึด (Fixture parameter) ที่ต้องควบคุมในการทำงานหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่
การจับยึดเครื่องมือตัด (Tool clamping) เช่น ประเภทของ Tool holder ค่า Overhang ค่า Run Out การ Balancing มีดกัด
การจับยึดชิ้นงาน (Workpiece clamping) เช่น รูปแบบของการจับชิ้นงาน แรงจับยึด ตัวกำหนดตำแหน่ง ตำแหน่งที่ใช้ในการจับยึด ความแข็งแรงและความมั่นคงขณะกัดงาน
4. รู้เงื่อนไขเครื่องมือตัด
หนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้ชิ้นงานที่ทำการกัดออกมา มีคุณภาพหรือไม่ คือการเลือกใช้เครื่องมือตัด (Cutting tool parameter) ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับรูปทรงของชิ้นงานและข้อจำกัดของเครื่องจักร ซึ่งประกอบด้วย
รูปร่างรูปทรงของเครื่องมือตัด (Tool geometry) เช่น ประเภทของเครื่องมือตัด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง จำนวนฟัน ความยาวคมตัด
รูปทรงของเม็ดมีด (Insert geometry) ได้แก่ วัสดุ ความแข็ง รูปแบบของการเคลือบผิว มุมคมตัด
5. กำหนดกลยุทธ์การตัดเฉือน
ก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์การตัดเฉือน (Machining strategy) ได้นั้น ผู้ออกแบบกระบวนการกัดงาน ต้องรู้และเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการพิจารณาการกำหนดกลยุทธ์การตัดเฉือน เริ่มตั้งแต่
การกำหนดขั้นตอนการทำงาน (Machining process) ซึ่งเราจะต้องรู้ว่า ชิ้นงานนั้นเป็นการกัดหนักหรือเบา มีการกระแทกระหว่างการกัดไหม เพื่อที่จะออกแบบแนวการเดินของเครื่องมือตัดให้เหมาะสมกับเงื่อนไขนั้น
การกำหนดเงื่อนไขการตัดเฉือน (Cutting condition) ได้แก่ การกำหนดความเร็วรอบ อัตราป้อน ระยะป้อนลึก และระยะขยับด้านข้าง นอกจากนี้ยังอาจจะต้องพิจารณาถึง แรงที่ใช้ในการตัด อัตราการกำจัดเศษ รวมทั้งการกำหนดรูปแบบการตัดเฉือนว่าเป็นแบบ Up cut หรือ Down cut รวมทั้งการเลือกใช้น้ำมันตัดที่เหมาะสม
พิจารณาภาพรวมของระบบการตัดเฉือน (Machine economy) เพื่อทำให้เกิด Productivity สูงสุด ใช้เครื่องมือเครื่องจักรได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด
6. การแก้ปัญหาและปรับปรุง
ความแตกต่างของชิ้นงาน เครื่องจักร การจับยึด เครื่องมือตัด และการวางกลยุทธ์การตัดเฉือน จะทำให้ชิ้นงานที่ผลิตได้มีคุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ปัญหาหรือปรับปรุง (Troubleshooting & Improvement) กระบวนการต่างๆ โดยในช่วงแรกของการเริ่มผลิตชิ้นงานเราจะสนใจแก้ปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือ
ปัญหาของชิ้นงานสำเร็จ (Finished part) เช่น ความเรียบผิวไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ผิวงานเป็นคลื่น มีรอย Cutter mark บนชิ้นงาน เกิดการบิดหรือเปลี่ยนรูปหลังการกัด
ปัญหาของเครื่องมือตัด (Cutting tool) เช่น อายุมีดกัดสั้น เกิดการสึกหรอเร็วเกินไป การแตกหักของคมตัด เกิดการสั่นสะท้านหรือการบิดของมีดกัด
จะเห็นได้ว่าการออกแบบและวางแผนกระบวนการกัดงาน จะมีตัวแปรและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและต้นทุนมากมาย ดังนั้นถ้าต้องการผลิตชิ้นงานที่ได้คุณภาพ ผู้ออกแบบและวางแผนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเงื่อนไขการทำงานครบทั้ง 6 ส่วน
ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงตัวแปรและเงื่อนไขบางส่วนในกระบวนการทำงานเท่านั้น ยังมีตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของกระบวนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม