MODIFIER SYMBOLS

สัญลักษณ์ปรับปรุง

สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbols)

สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbols) เป็นสัญลักษณ์ ตัวย่อหรือข้อความพิเศษที่ถูกกำหนดเพิ่มขึ้นมาหลังตัวเลขบอกขนาด (Size Dimension) หรือในกรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame) ในส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) หรือส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) โดยจุดประสงค์หลักของสัญลักษณ์ปรับปรุงคือการเปลี่ยนข้อกำหนดในการวิเคราะห์และแปลความหมายให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน สัญลักษณ์ปรับปรุงแบบต่างๆ แสดงไว้ในตารางที่ 1-3

ตารางที่ 9-1 สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbol)

สภาวะเนื้อวัสดุ (Material Condition)

สภาวะเนื้อวัสดุ (Material Condition) จะพิจารณาจากปริมาณเนื้อวัสดุของชิ้นงานที่เปลี่ยนไปจากการกำหนดขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ระบุในแบบงาน สภาวะเนื้อวัสดุแบ่งออกเป็น 3 สภาวะ คือ สภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition, MMC) สภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (Least Material Condition, LMC) และสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (Regardless of Feature Size, RFS)

สภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุด เป็นสภาวะที่ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนส่งผลให้ปริมาณเนื้อวัสดุของชิ้นงานมีค่ามากที่สุด เช่น ขนาดของรูที่เล็กที่สุดหรือขนาดของเพลาที่ใหญ่ที่สุด โดย Ⓜ จะเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด

สภาวะเนื้อวัสดุน้อยที่สุด เป็นสภาวะที่ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนส่งผลให้ปริมาณเนื้อวัสดุของชิ้นงานมีค่าน้อยที่สุด เช่น ขนาดของรูที่ใหญ่ที่สุดหรือขนาดของเพลาที่เล็กที่สุด โดย Ⓛ จะเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด

สภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ เป็นการวิเคราะห์ขนาดในสภาวะที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ต้องคำนึงว่าขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะส่งผลให้มีปริมาณเนื้อวัสดุเป็นเท่าไร

ภาพที่ 9-1 แสดงตัวอย่างของการวิเคราะห์สภาวะเนื้อวัสดุของชิ้นงาน โดยในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) รูจะมีขนาด Ø16.0 และเพลาจะมีขนาด Ø16.0 ส่วนในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) รูจะมีขนาด Ø16.5 และเพลาจะมีขนาด Ø15.5 ส่วนสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS) รูจะมีขนาดจริง (Actual Mating Size, AME) ระหว่าง Ø16.5 ถึง Ø16.0 ส่วนเพลาจะมีขนาดจริงระหว่าง Ø16.0 ถึง Ø15.5

ภาพที่ 9-1 ขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) และขนาดในสภาวะเนื้อวัสดุน้อย (LMC) สุดของรูและเพลา

เมื่อกำหนดการวิเคราะห์ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) หรือสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) จะส่งผลให้พื้นผิวของชิ้นงานถูกควบคุมจากขอบเขตสภาวะเสมือน (Virtual Condition Boundary, VC) ดังนั้นค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) ของชิ้นงานมีเปลี่ยนไปตามขนาดจริง (Actual Mating Size, AME) ของชิ้นงาน ซึ่งค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั้งหมด (Total Tolerance) สามารถคำนวณได้จาก

ขอบเขตเนื้อวัสดุ (Material Boundary)

สภาวะขอบเขตวัสดุ (Material Condition) จะพิจารณาจากปริมาณเนื้อวัสดุของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ที่เปลี่ยนไปจากการกำหนดขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ระบุในแบบงาน สภาวะขอบเขตวัสดุแบ่งออกเป็น 3 สภาวะ คือ สภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (Maximum Material Boundary, MMB) สภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุด (Least Material Boundary, LMB) และสภาวะที่ไม่คำนึงถึงขอบเขตวัสดุ (Regardless of Material Boundary, RMB)

สภาวะขอบเขตวัสดุมากที่สุด เป็นสภาวะที่ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนส่งผลขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงมีค่ามากที่สุด เช่น ขอบเขตของรูที่เล็กที่สุดหรือขอบเขตของเพลาที่ใหญ่ที่สุด โดย Ⓜ จะเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด

สภาวะขอบเขตวัสดุน้อยที่สุด เป็นสภาวะที่ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนส่งผลให้ขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงมีค่าน้อยที่สุด เช่น ขอบเขตของรูที่ใหญ่ที่สุดหรือขอบเขตของเพลาที่เล็กที่สุด โดย Ⓛ จะเป็นสัญลักษณ์ของสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุด

สภาวะที่ไม่คำนึงถึงขอบเขตวัสดุ เป็นการวิเคราะห์ขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงในสภาวะที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ต้องคำนึงว่าขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะส่งผลให้มีขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงเป็นเท่าไร

ภาพที่ 9-2 แสดงตัวอย่างของการวิเคราะห์สภาวะขอบเขตวัสดุของดาตั้มอ้างอิง โดยในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (MMB) ขอบเขตรูดาตั้มจะมีขนาด Ø16.0 และขอบเขตเพลาดาตั้มจะมีขนาด Ø16.0 ส่วนในสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุด (LMB) ขอบเขตรูดาตั้มจะมีขนาด Ø16.5 และขอบเขตเพลาดาตั้มจะมีขนาด Ø15.5 ส่วนสภาวะที่ไม่คำนึงถึงขอบเขตวัสดุ (RMB) ขอบเขตรูดาตั้มจะมีขนาดจริง (Actual Mating Size, AME) ระหว่าง Ø16.5 ถึง Ø16.0 ส่วนขอบเขตเพลาดาตั้มจะมีขนาดจริงระหว่าง Ø16.0 ถึง Ø15.5

ภาพที่ 9-2 ขนาดในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (MMB) และขนาดในสภาวะขอบเขตวัสดุน้อย (LMB) สุดของรูดาตั้มและเพลาดาตั้ม

เมื่อกำหนดการวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (MMB) หรือสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุด (LMB) จะส่งผลให้ดาตั้มอ้างอิงของชิ้นงานเปลี่ยนไปเป็นขอบเขตสภาวะเสมือนของดาตั้ม (Virtual Condition Datum, VC) ดังนั้นศูนย์ของชิ้นงานที่เกิดจากกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) จะสามารถเกิดการเปลี่ยนตำแหน่ง (Datum Displacement) ได้ตามขนาดจริง (Actual Mating Size, AME) ของดาตั้มอ้างอิง ซึ่งการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มอ้างอิงนั้นสามารถเป็นได้ทั้งการขยับของดาตั้มอ้างอิง (Datum Translation / Datum Shift) และการหมุนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Rotation) ขึ้นอยู่กับว่าดาตั้มอ้างอิงนั้นควบคุมระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ได้ในระดับไหน

การขยับของดาตั้มอ้างอิง (Datum Translation / Datum Shift) จะเกิดขึ้นได้เมื่อดาตั้มอ้างอิงนั้นมีการควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ในแนวแกน (Translational Freedom) เท่านั้น ได้แก่ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน X แนวแกน Y และแนวแกน Z โดยตำแหน่งใหม่ที่เกิดจากการขยับของดาตั้มอ้างอิงในระนาบ 2 มิติ สามารถคำนวณได้จาก

เมื่อ

X และ Y คือ พิกัด (X,Y) เดิมก่อนเกิดการขยับดาตั้มอ้างอิงในระนาบ X-Y

X' และ Y' คือ พิกัด (X,Y) ใหม่หลังเกิดการขยับดาตั้มอ้างอิงในระนาบ X-Y

TX และ TY คือ ระยะขยับในแนวแกน X และในแนวแกน Y ตามลำดับ 

การหมุนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Rotation) จะเกิดขึ้นได้เมื่อดาตั้มอ้างอิงนั้นมีการควบคุมระดับความเป็นอิสระของการหมุนในแนวแกน (Rotational Freedom) เท่านั้น ได้แก่ระดับการหมุนรอบแกน u ระดับการหมุนรอบแกน v และระดับการหมุนรอบแกนแกน w โดยตำแหน่งใหม่ที่เกิดจากการหมุนของดาตั้มอ้างอิงในระนาบ 2 มิติ สามารถคำนวณได้จาก

เมื่อ

X และ Y คือ พิกัด (X,Y) เดิมก่อนเกิดการขยับดาตั้มอ้างอิงในระนาบ X-Y

X' และ Y' คือ พิกัด (X,Y) ใหม่หลังเกิดการขยับดาตั้มอ้างอิงในระนาบ X-Y

Ө คือ มุมที่เกิดจากหมุนดาตั้มดาตั้มอ้างอิงรอบจุดกำเนิด (Origin) ในระนาบ X-Y 

สภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ (Free State)

สภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ (Free State) เป็นเงื่อนไขในการควบคุมและตรวจสอบขนาด (Size) หรือรูปร่างรูปทรง (Geometry) ของชิ้นงานในสภาวะที่ไม่มีแรงจากภายนอกที่เกิดจากการจับยึดชิ้นงานมากระทำกับชิ้นงาน แม้ว่าชิ้นงานจะมีชิ้นงานที่เกิดความเบี่ยงเบนทางด้านขนาดหรือรูปร่างรูปทรงมากจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะพบเห็นได้ทั่วไปสำหรับชิ้นงานที่มีลักษณะไม่แข็งเกร็ง (Non-Rigid Part) เช่น ยาง พลาสติก โลหะแผ่นบาง เป็นต้น โดย Ⓕ จะเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ ดังแสดงในภาพที่ 9-3

ภาพที่ 9-3 การควบคุมความกลมในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ (Free State)

ภาพที่ 9-4 เป็นตารางตัวอย่างแสดงผลการวิเคราะห์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย (Average Diameter) และความกลม (Circularity) ของชิ้นงานในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ (Free State) ที่สามารถเกิดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในแต่ละแนวการตรวจสอบ (Actual Local Size) ได้มากที่สุดและน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยแบบงานมีการกำหนดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยอยู่ระหว่าง Ø30.0 ถึง Ø30.5 และมีการควบคุมค่าความกลมของชิ้นงานเป็น 0.2 ในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ

ตัวอย่างที่ 1 มีผลการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำจำนวน 4 ตำแหน่ง ซึ่งได้ผลการตรวจสอบดังนี้ 30.7, 30.6, 30.4 และ 30.3

เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยจะมีค่าเท่ากับ 

ค่าความกลม (Minimum Radial Separator) จะมีค่า

ภาพที่ 9-4 ตัวอย่างการวิเคราะห์ความกลมในสภาวะที่มีความเป็นอิสระ (Free State)

ตัวอย่างที่ 2 มีผลการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำจำนวน 4 ตำแหน่ง ซึ่งได้ผลการตรวจสอบดังนี้ 30.2, 30.1, 29.9 และ 29.8

เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยจะมีค่าเท่ากับ 

ค่าความกลม (Minimum Radial Separator) จะมีค่าเท่ากับ 

การควบคุมรูปร่างรูปทรงในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ (Free State) ในกรณีที่ตำแหน่งหรือพื้นผิวนั้นถูกใช้เป็นดาตั้มอ้างอิงจะส่งผลให้การผลการวิเคราะห์การจัดวางตำแหน่ง (Orientation) หรือการจัดวางทิศทาง (Location) ได้ผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน เนื่องจากดาตั้มอ้างอิงที่ไม่แข็งเกร็ง (Non-Rigid) จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างรูปทรงได้เมื่อมีแรงจับยึดมากระทำในขณะทำการประกอบชิ้นงาน

ดังนั้นการควบคุมการจัดวางทิศทางหรือการควบคุมการจัดวางตำแหน่งของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Axis) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) เมื่อดาตั้มอ้างอิงอยู่ในสภาวะที่ไม่แข็งเกร็งจึงจำเป็นต้องกำหนดตำแหน่ง (Location) และขนาดของแรง (Torque) ที่แน่นอนในการจับยึด ดังนั้นการควบคุมรูปร่างรูปทรงจะเป็นการควบคุมในสภาวะที่มีแรงภายนอกมากระทำ (Restrain Condition) เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานมากที่สุด

การกำหนดการควบคุมในสภาวะที่มีแรงภายนอกมากระทำในแบบงานจะใช้วิธีการการกำหนดข้อความ (Note) ลงในแบบงานซึ่งจะต้องประกอบด้วยตำแหน่งที่จับยึด (Clamping Location) วิธีการจับยึด (Clamping Method) แรงที่ใช้ในการจับยึด (Torque) ดังแสดงตัวอย่างในภาพที่ 9-5 ที่มีการระบุข้อความว่า “TOLERNCE APPLIES WHEN DATUM A IS MOUNTED AGAINST FLAT SURFACE OF CHECKING FIXTURES (VALIDATE BY TOOLING DEPARTMENT) USING 6 BOLTS OF M8 x 1.25 TORQUED TO 10-15 N.m” ซึ่งหมายถึงใช้ตำแหน่งจับยึดจำนวน 6 ตำแหน่ง วิธีการจับยึดด้วยสกรูขนาด M8 x 1.25 จำนวน 6 ตัว และกำหนดแรงขันยึดของสกรูแต่ละตัวอยู่ระหว่าง 10-15 นิวตัน-เมตร

ภาพที่ 9-5 ตัวอย่างแบบงานที่มีการควบคุมในสภาวะที่มีการควบคุมแรงจับยึด (Restrain Condition)

ระนาบสัมผัส (Tangent Plane)

สัญลักษณ์ปรับปรุงระนาบสัมผัส (Tangent Plane) เป็นสัญลักษณ์ปรับปรุงที่ใช้สำหรับการเปลี่ยนการวิเคราะห์รูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) และการควบคุมรูปโครงร่างใดๆ (Profile) จากการควบคุมพื้นผิว (Feature) ไปเป็นการควบคุมระนาบสัมผัสด้านนอกของพื้นผิว (Outer Tangent Plane) โดย Ⓣ จะเป็นสัญลักษณ์ของระนาบสัมผัส ดังแสดงในภาพที่ 9-6

ภาพที่ 9-6 สัญลักษณ์ปรับปรุงระนาบสัมผัส (Tangent Plane)

การฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Projected Tolerance)

การฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Projected Tolerance) เป็นการเปลี่ยนขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ของการควบคุมความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ที่ใช้ในการควบคุมระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ซึ่งโดยปกติเป็นขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ใช้ควบคุมระนาบกลางหรือแกนกลางในเนื้อวัสดุไปเป็นขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ใช้ควบคุมระนาบกลางหรือแกนกลางนอกเนื้อวัสดุตามระยะที่ต้องการ โดย Ⓟ จะเป็นสัญลักษณ์ของการฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน ซึ่งกำหนดในส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value Compartment) พร้อมทั้งระบุระยะที่ต้องการควบคุมหลังสัญลักษณ์การฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนเสมอ

ตัวอย่างการประกอบในภาพที่ 9-7 จำเป็นต้องกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุงการฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน เนื่องจากการความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งที่อยู่ในเนื้อวัสดุจะส่งผลกระทบด้านการจัดวางตำแหน่ง (Location) และการจัดวางทิศทาง (Orientation) ด้านนอกเนื้อวัสดุ ส่งผลให้ลักษณะของการประกอบไม่เป็นไปตามที่ผู้ออกแบบต้องการ โดยที่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเมื่อการควบคุมตำแหน่งของชิ้นงานนั้นส่งผลกระทบต่อการประกอบชิ้นส่วนอื่นทางอ้อม

ภาพที่ 9-7 ผลการเบี่ยงเบนที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการควบคุมตำแหน่ง

เมื่อมีการกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุงการฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนลงในแบบงานจะส่งผลให้การควบคุมตำแหน่งของระนาบกลางหรือแกนกลางออกนอกเนื้อวัสดุ ดังแสดงในภาพที่ 9-8 ทำให้การควบคุมตำแหน่งสอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบของชิ้นงานมากขึ้น

ภาพที่ 9-8 การฉายขอบเขตพิกัดความคลาดเลื่อน (projected Tolerance)

การควบคุมพื้นผิวแบบต่อเนื่อง (Continuous Feature)

การควบคุมขนาด (Size) หรือการควบคุมรูปทรง (Form) ของพื้นผิวจะเป็นการควบคุมในลักษณะ (Individual Control) ซึ่งในบางกรณีเงื่อนไขของการประกอบจะเป็นการประกอบแบบต่อเนื่องระหว่างพื้นผิวตั้งแต่ 2 พื้นผิวขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบในลักษณะนี้ผู้ออกแบบจะกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุงที่ใช้เพื่อการควบคุมพื้นผิวแบบต่อเนื่อง (Continuous Feature) โดยจะกำหนดสัญลักษณ์ <CF> ในส่วนของขนาดหรือส่วนของสัญลักษณ์ GD&T ในแบบงาน ดังแสดงในภาพที่ 9-9

ภาพที่ 9-9 การควบคุมพื้นผิวแบบต่อเนื่อง (Continuous Feature)

การควบคุมแบบอิสระ (Independency Principle)

ตามข้อกำหนดของกฎข้อที่ 1 (Rule #1 Envelope Principle) ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าในแบบงานมีการกำหนดเฉพาะขนาด (Size) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาด (Size Tolerance) เพียงอย่างเดียว พื้นผิว (Feature) ที่เกิดความเบี่ยงเบนทางด้านรูปทรง (Form Deviation) จะต้องไม่ล้ำออกนอกหรือล้ำเข้าไปในขอบเขตของชิ้นงานที่อยู่ในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดที่มีความสมบูรณ์แบบทางด้านรูปร่างรูปทรง (Perfect Form at MMC) โดยกฎข้อที่ 1 นี้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเสมอกับเมื่อมีการกำหนดขนาด

ถ้าต้องการยกเลิกกฎข้อที่ 1 จะสามารถทำได้โดยการกำหนดสัญลักษณ์ Ⓘ ลงในแบบงาน ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นการควบคุมแบบอิสระ (Independency Principle) ซึ่งจะเป็นการยกเลิกการควบคุมพื้นผิวของชิ้นงานด้วยขอบเขตของชิ้นงานที่อยู่ในสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดที่มีความสมบูรณ์แบบทางด้านรูปร่างรูปทรง ดังนั้นการกำหนดขนาดในกรณีที่มีการควบคุมแบบอิสระจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T เพื่อใช้ควบคุมรูปทรง (Form Control) ด้วย ดังแสดงในภาพที่ 9-10

ภาพที่ 9-10 การควบคุมแบบอิสระ (Independency)

การจัดสรรขอบเขตที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed)

ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างใดๆ (Profile) เป็นขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้น (Adds Material Direction) และด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลง (Removes Material Direction) มีระยะห่าง (Offset Value) เท่าๆ กันเมื่อเทียบกับโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ (True Profile) ตัวอย่างเช่น ถ้าแบบงานมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เท่ากับ 3 มม. หมายความค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นและขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลงจะมีระยะห่างด้านละ 1.5 มม. เท่าๆ กันเมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ

ถ้าต้องการให้ระยะห่างของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นและด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลงมีค่าไม่เท่ากัน การกำหนดสัญลักษณ์ GD&T จะต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier) ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed Profile Tolerance) โดยการกำหนดสัญลักษณ์ Ⓤ ในส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value Compartment) พร้อมทั้งระบุระยะของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ

ภาพที่ 9-11 เป็นตัวอย่างการแปลความหมายของการกำหนดสัญลักษณ์การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน โดยแบบงานมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ เป็น 0.8 Ⓤ 0.6 ซึ่งจะแปลความหมายได้ว่า ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) ของการควบคุมรูปโครงร่างจะมีค่าเท่ากับ 0.8 มม. โดยที่ค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้น (Adds Material Direction) จะมีค่า 0.6 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ ดังนั้นค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลง (Removes Material Direction) จะมีค่า 0.2 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ

ภาพที่ 9-11 การจัดสรรขอบเขตที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed)

การกำหนดให้ดาตั้มสามารถขยับตำแหน่งได้ (Translation)

ดาตั้มอ้างอิงในแต่ละอันดับที่กำหนดลงในแบบงานจะก่อให้เกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) จะต้องจัดวางทำมุมที่แน่นอน (True Angle) หรืออยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน (True Position) เมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) ส่วนดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) จะต้องจัดวางทำมุมที่แน่นอนหรืออยู่ในตำแหน่งที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาดาตั้มอันดับที่ 2

ดังนั้นการวิเคราะห์ดาตั้มอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 จึงเป็นการกำหนดดาตั้มอ้างอิงจากระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ในสภาวะขอบเขตการประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ถ้าดาตั้มอันดับที่ 2 หรือดาตั้มอันดับที่ 3 มีการควบคุมค่าความเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) จะทำให้สภาวะขอบเขตการประกอบที่อ้างอิงดาตั้มมีทั้งการควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation) และการควบคุมตำแหน่ง (Location) ถ้าผู้ออกแบบต้องการกำหนดให้ดาตั้มอ้างอิงในอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 เกิดจากสภาวะที่ไม่มีการควบคุมตำแหน่ง ผู้ออกแบบจะต้องระบุสัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier) ให้ดาตั้มสามารถขยับตำแหน่งได้ (Translation) ด้วยการกำหนดสัญลักษณ์ ⊳ ลงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame) ในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) ลำดับที่ต้องการให้สามารถเกิดการขยับตำแหน่งของดาตั้ม ดังแสดงในภาพที่ 9-12

ภาพที่ 9-12 การขยับตำแหน่งของดาตั้ม (Translation)

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance)

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) เป็นผลจากการวิเคราะห์การสะสมของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Stacking) ของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นขณะทำการประกอบด้วยหลักการทางด้านสถิติ เช่น การคำนวณหาค่าความคลาดเคลื่อนสะสมด้วยวิธีการหาค่ารากที่สองของผลรวมของค่ายกกำลังสองของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนแต่ละค่า (Root of the Sum of the Square of the Individual Tolerance) โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะทำให้ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนในกระบวนการผลิตมีค่ามากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการผลิตน้อยลง

หลังจากทำการวิเคราะห์ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติและได้ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้ว จะต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ <ST> ในส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนนั้นๆ ลงในแบบงาน เพื่อให้ผู้ผลิตทราบว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนนั้นจะต้องมีการควบคุมค่าในกระบวนการผลิตโดยใช้หลักการเชิงสถิติ (Statistical Process Control) เท่านั้น นอกจากนี้ในแบบงานควรจะมีการระบุข้อความหรือสัญลักษณ์ว่าใช้เกณฑ์อะไรในการควบคุมกระบวนการผลิตเชิงสถิติ

ภาพที่ 9-13 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance)

แบบงานตัวอย่างในภาพที่ 9-13 เป็นการระบุค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) ซึ่งมีการระบุข้อความลงในแบบงาน ดังนี้ “FEATURE IDENTIFIED AS STATISITCALLY TOLERANCE <ST> SHALL BE PRODUCED WITH STATISTICAL PROCESS CONTROL” ซึ่งเป็นการกำหนดว่าการควบคุมขนาด Ø12 จะมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเท่ากับ ±0.05 และต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตเชิงสถิติเท่านั้น

แบบงานตัวอย่างในภาพที่ 9-14 เป็นการระบุค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) พร้อมกับค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงตัวเลข (Arithmetic Tolerance) และมีการระบุข้อความลงในแบบงาน ดังนี้ “FEATURE IDENTIFIED AS STATISITCALLY TOLERANCE <ST> SHALL BE PRODUCED WITH STATISTICAL PROCESS CONTROL, OR TO THE MORE RESTRICTIVE ARITHMETIC LIMITS” ซึ่งเป็นการกำหนดว่าการควบคุมขนาด Ø12 จะมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเท่ากับ ±0.05 ถ้ามีการควบคุมกระบวนการผลิตเชิงสถิติ แต่ถ้าไม่มีการควบคุมกระบวนการผลิตเชิงสถิติค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาดจะมีค่าที่น้อยลงเท่ากับ ±0.02

ภาพที่ 9-14 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) ร่วมกับค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงตัวเลข

ภาพที่ 9-15 เป็นตัวอย่างแบบงานที่มีการระบุค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) ให้กับค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาด (Size Tolerance) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปร่างรูปทรง (Geometric Tolerance) โดยการวิเคราะห์แบบงานจะพบว่าขนาด Ø15 และการควบคุมความตั้งฉาก (Perpendicularity) จะต้องมีการควบคุมค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ ส่วนการควบคุมค่าความเบี่ยงเบนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) จะทำการควบคุมโดยใช้ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงตัวเลข

ภาพที่ 9-15 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเชิงสถิติ (Statistical Tolerance) ทางด้านรูปร่างรูปทรง

การควบคุมอิสระในแต่ละชุด (Individually Control)

การควบคุมพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) จะมีการควบคุมอ้างอิงกับกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ที่เกิดจากการลำดับของดาตั้มอ้างอิงที่กำหนดในแบบงาน ในบางกรณีที่ผู้ออกแบบต้องการให้ลักษณะของการควบคุมเป็นการควบคุมที่มีความเป็นอิสระในแต่ละชุด (Individually Control) ผู้ออกแบบจะระบุข้อความ “INDIVIDULLY” ไปยังตำแหน่งที่ต้องการให้การควบคุมเป็นอิสระ

ภาพที่ 9-16 แสดงตัวอย่างของการควบคุมที่มีความเป็นอิสระในแต่ละชุดของตำแหน่งแกนกลาง (Center Line) ของการผายปากรูแบบองศา (Counter Sink) เมื่อเทียบกับตำแหน่งแกนกลางของรูเจาะทะลุ ซึ่งเป็นการกำหนดให้การผายปากรูมีการอ้างอิงกับตำแหน่งของรู โดยไม่คำนึงถึงศูนย์ของชิ้นงานที่เกิดจากกรอบดาตั้มอ้างอิง

ภาพที่ 9-16 การควบคุมในแต่ละชุด (Individually Control) ของตำแหน่ง

ภาพที่ 9-17 แสดงตัวอย่างของการควบคุมที่มีความเป็นอิสระในแต่ละชุดของพื้นผิว (Feature) โดยพื้นผิวที่ถูกควบคุมในแต่ละชุดจะมีการควบคุมรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface) ที่มีค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเท่ากับ 0.1

ภาพที่ 9-17 การควบคุมในแต่ละชุด (Individually Control) ของพื้นผิว

การควบคุมแบบสัมพันธ์กัน (Simultaneous Requirement)

แนวระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ที่เกิดจากการเขียนแบบจะถูกควบคุมให้มีความสัมพันธ์กัน (Simultaneous Requirement) โดยอัตโนมัติจากกฎเกณฑ์ในการเขียนแบบที่ว่า “ถ้ามีการเขียนเส้นศูนย์กลาง (Center Line) ของพื้นผิวคู่ขนาน (2 Parallel Surface) ที่ใช้ระนาบกลางร่วมกันหรือพื้นผิวทรงกระบอก (Cylindrical Surface) ที่ร่วมแกนกันในแบบงานทางด้านวิศวกรรม จะใช้เส้นศูนย์กลางเพียงเส้นเดียวและระยะห่างของเส้นศูนย์กลางเหล่านั้นมีค่าเป็นศูนย์ในอุดมคติ (Zero Basic Dimension)”

การควบคุมระนาบกลางของร่อง (Key Groove) ทั้ง 2 ตำแหน่ง ในแบบงานที่ 9-18 จะต้องอยู่ในแนวเดียวกัน แม้ว่าดาตั้มอ้างอิงของการควบคุมความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ที่กำหนดในแบบงานจะใช้เพียงดาตั้ม A ในการอ้างอิงเพียงดาตั้มเดียว โดยจะต้องมีการอ้างอิงตำแหน่งระนาบกลางของร่องซึ่งกันและกันด้วยเสมอ

ภาพที่ 9-18 การควบคุมพร้อมกัน (Simultaneous Requirement)

ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบงานในภาพที่ 9-18 แสดงในภาพที่ 9-19 โดยชิ้นงานที่ผลิตได้จะต้องมีการควบคุมตำแหน่งระนาบกลางของร่องทั้งสองแบบสัมพันธ์กัน (Simultaneous) โดยอัตโนมัติ

ภาพที่ 9-19 ผลลัพธ์จากการควบคุมพร้อมกัน (Simultaneous Requirement)

การควบคุมแบบไม่สัมพันธ์กัน (Separate Requirement)

เมื่อมีการระบุข้อความ “SEP REQT” จะเป็นการควบคุมแบบไม่สัมพันธ์กัน (Separate Requirement) โดยที่การควบคุมตำแหน่งของแนวระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ที่ต้องเขียนแบบให้เส้นศูนย์กลางของระนาบกลางหรือแกนกลางต้องใช้เส้นศูนย์กลางเพียงเส้นเดียว ไม่ต้องผลิตออกมาแล้วต้องอยู่ในระนาบอ้างอิงเดียวกันหรืออยู่บนแกนอ้างอิงเดียวกัน

การควบคุมระนาบกลางของร่อง (Key Groove) ทั้ง 2 ตำแหน่ง ในแบบงานที่ 9-20 ไม่จำเป็นต้องอยู่ในแนวเดียวกัน เนื่องจากมีการระบุข้อความ “SEP REQT” ซึ่งเป็นการควบคุมแบบไม่สัมพันธ์กัน (Separate Requirement) ดังนั้นจึงมีเพียงดาตั้มอ้างอิงของการควบคุมความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ที่กำหนดในแบบงาน ซึ่งก็คือดาตั้ม A ที่ถูกใช้ในการอ้างอิงตำแหน่งของร่องเพียงอย่างเดียว ไม่มีการอ้างอิงตำแหน่งระนาบกลางของร่องซึ่งกันและกัน

ภาพที่ 9-20 การควบคุมแยกส่วน (Separate Requirement)

ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบงานในภาพที่ 9-20 แสดงในภาพที่ 9-21 โดยชิ้นงานที่ผลิตได้จะมีการควบคุมตำแหน่งระนาบกลางของร่องทั้งสองแบบไม่สัมพันธ์กัน (Separate)

ภาพที่ 9-21 ผลลัพธ์จากการควบคุมแยกส่วน (Separate Requirement)

กรอบดาตั้มอ้างอิงแบบกำหนดเอง (Customize Datum Reference Frame)

ดาตั้มอันดับที่ 1 ที่เกิดจากพื้นผิวที่มีลักษณะซับซ้อน (Irregular Feature of Size) จะประกอบด้วยระนาบดาตั้ม (Datum Plane) แกนดาตั้ม (Datum Axis) หรือจุดดาตั้ม (Datum Point) มากกว่า 1 ดาตั้มร่วมกันอยู่ ทำให้การควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ของสิ่งที่ถูกควบคุมมีจำนวนมากกว่าการกำหนดดาตั้มอ้างอิงจากพื้นผิวที่ไม่ซับซ้อน (Regular Feature of Size)

ภาพที่ 9-22 แสดงให้เห็นการกำหนดดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากพื้นผิวทรงกรวย (Conical Surface) ซึ่งจะก่อให้เกิดดาตั้มอ้างอิงที่เป็นแกนดาตั้ม (Datum Axis) และจุดดาตั้ม (Datum Point) รวมกันอยู่ โดยการควบคุมค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งในอุดมคติ (Basic Dimension) ที่อ้างอิงกับดาตั้ม ทำให้สามารถควบคุมตำแหน่งของรูได้โดยกำหนดดาตั้มอ้างอิงเพียงอันดับเดียว

ภาพที่ 9-22 แบบงานตัวอย่างที่มีดาตั้มอ้างอิงจากพื้นผิวรูปกรวย

ภาพที่ 2-23 เป็นการแสดงให้เห็นถึงกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ที่เกิดจากการกำหนดดาตั้มอ้างอิงในแบบงานที่ 9-22 จะมีแกนดาตั้มอ้างอิง (Datum Axis) และจุดดาตั้มอ้างอิง (Datum Point) ที่เกิดจากสภาวะขอบเขตการประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual mating Envelope, U-AME) ของพื้นผิวรูปกรวย (Conical Surface) ที่สามารถควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ได้ 5 ระดับ คือ ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน X ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Y ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Z ระดับการหมุนรอบแกน u และระดับการหมุนรอบแกน w ดังนั้นจึงทำให้ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนมีอิสระในระดับการหมุนรอบแกน v เท่านั้น

เมื่อวิเคราะห์การประกอบ (Assembly Analysis) พบว่าจุดดาตั้มอ้างอิง (Datum Point) ที่เกิดจากพื้นผิวทรงกรวย จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใดๆ เลย เนื่องจากตำแหน่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตรงกับพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) ของขอบเขตพื้นผิวใดๆ เลย ซึ่งอาจจะทำให้การวิเคราะห์ค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งของรูผิดพลาดไป

ภาพที่ 9-23 กรอบดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากพื้นผิวรูปกรวย

ดังนั้นผู้ออกแบบจึงสามารถกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงได้เองตามความต้องการ (Customize Datum Reference Frame) ด้วยการกำหนดแนวแกนอ้างอิง X แนวแกนอ้างอิง Y และแนวแกนอ้างอิง Z ลงในแบบงาน พร้อมทั้งระบุว่าดาตั้มอ้างอิงที่กำหนดลงในแบบงานสามารถควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ได้ในระดับไหนบ้างด้วยการกำหนดระดับความเป็นอิสระที่ถูกควบคุมลงในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) โดยจะกำหนดระดับความเป็นอิสระที่ต้องการควบคุมจากดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ ด้วยการกำหนดด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กที่อยู่ในวงเล็บหลังดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ 

ภาพที่ 9-23 เป็นตัวอย่างแบบงานที่ผู้ออกแบบได้กำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงตามความต้องการ ด้วยการกำหนดระดับของการควบคุม [x,z,u,w] หลังดาตั้ม A และกำหนดระดับของการควบคุม [y] หลังดาตั้ม B

ภาพที่ 9-24 แบบงานตัวอย่างที่เกิดจากการกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงเอง

ภาพที่ 2-25 เป็นการแสดงให้เห็นถึงกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ที่เกิดจากการกำหนดดาตั้มอ้างอิงในแบบงานที่ 9-24 จะมีแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Axis) ที่เกิดจากสภาวะขอบเขตการประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual mating Envelope, U-AME) ของพื้นผิวรูปกรวย (Conical Surface) ที่ถูกระบุให้สามารถควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ได้ 4 ระดับ คือ ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน X ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Z ระดับการหมุนรอบแกน u และระดับการหมุนรอบแกน w ส่วนระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum Plane) จะเกิดจากระนาบสัมผัสพื้นผิวด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่ตั้งฉากกับแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 ซึ่งถูกระบุให้สามารถควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนได้ 1 ระดับ คือ ระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน Y จึงทำให้การเกิดกรอบดาตั้มอ้างอิงสอดคล้องกับลักษณะของการประกอบใช้งานของชิ้นงานนี้

ภาพที่ 9-25 กรอบดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากการกำหนดเอง