DATUM REFERENCE

ดาตั้มอ้างอิง

ดาตั้ม (Datum)

ดาตั้ม (Datum) คือ ระนาบ (Plane) แกน (Axis) หรือจุด (Point) ที่มีรูปทรงและตำแหน่งที่แน่นอนตามทฤษฎี เพื่อใช้ในการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) และการจัดวางตำแหน่ง (Location) ของพื้นผิว (Feature) ระนาบ (Plane) แกน (Line) หรือจุด (Point) ของพื้นผิว ซึ่งการควบคุมรูปร่างรูปทรงด้วยสัญลักษณ์ GD&T ที่จำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิง ได้แก่ ความตั้งฉาก (Perpendicularity) ความขนาน (Parallelism) ความเป็นมุม (Angularity) ความสมมาตร (Symmetry) ความร่วมศูนย์ร่วมแกน (Concentricity) ความลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ความเบี่ยงเบนเนื่องจากการหมุนในแต่ละระนาบ (Circular Runout) ความเบี่ยงเบนเนื่องจากการหมุนทั้งหมด (Total Runout) รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) และรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface)

กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)

กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ประกอบด้วยระนาบ (Datum Plane) 3 ระนาบ ได้แก่ ระนาบ XY ระนาบ YZ และระนาบ XZ ที่ถูกสร้างตั้งฉากซึ่งกันและกัน ประกอบด้วยแกน (Datum Axis) 3 แกน ได้แก่ แกน X แกน Y และแกน Z ซึ่งถูกสร้างตั้งฉากซึ่งกันและกัน และตำแหน่งจุดกำเนิด (Origin) หรือศูนย์ของชิ้นงาน 1 ตำแหน่งที่เกิดจากจุดตัดระหว่างระนาบทั้ง 3 หรือแกนทั้ง 3 ดังแสดงในภาพที่ 7-1

ภาพที่ 7-1 กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)

ดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum)

ดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) ถูกพิจารณาจากลำดับในการประกอบของชิ้นส่วน โดยดาตั้มอันดับที่ 1 จะเกิดขึ้นอย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องอ้างอิงกับระนาบ แกนหรือจุดใดๆ

ในกรณีที่ดาตั้มอันดับที่ 1 เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) ที่เกิดจากพื้นผิว (Feature) ดาตั้มนั้นจะเกิดจากระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 3 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม ส่วนกรณีที่ดาตั้มอันดับที่ 1 เป็นระนาบดาตั้มที่เกิดจากระนาบกลาง (Center Plane) แกนดาตั้มอ้างอิง (Datum Axis) ที่เกิดจากแกนกลาง (Center Line) และจุดดาตั้มอ้างอิง (Datum Point) ที่เกิดจากจุดกึ่งกลาง (Center Point) จะเกิดจากระนาบกลาง แกนกลางหรือจุดกึ่งกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Mating Envelope, U-AME) ของพื้นผิว (Feature of Size) ที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มในแบบงาน ดังแสดงในภาพที่ 7-2

ภาพที่ 7-2 ดาตั้มอันดับที่ 1 ที่เกิดจากรูปทรงพื้นฐาน

นอกจากนี้ดาตั้มอันดับที่ 1 ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากพื้นผิวที่มีลักษณะซับซ้อน (Irregular Feature of Size) โดยดาตั้มอันดับที่ 1 จะประกอบด้วยระนาบดาตั้ม (Datum Plane) แกนดาตั้ม (Datum Axis) หรือจุดดาตั้ม (Datum Point) มากกว่า 1 ดาตั้ม เช่น เมื่อใช้พื้นผิวรูปทรงกรวย (Conical Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 1 ดาตั้มนั้นจะประกอบด้วยแกนดาตั้มและจุดดาตั้มร่วมอยู่ในดาตั้มอันดับที่ 1 ด้วย ดังแสดงในภาพที่ 7-3

ภาพที่ 7-3 ดาตั้มอันดับที่ 1 ที่เกิดจากรูปทรงซับซ้อน

ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum)

ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) ถูกพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 2 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1

ในกรณีที่ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 เป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ที่เกิดจากพื้นผิว (Feature) ดาตั้มนั้นจะเกิดจากระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 2 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม โดยระนาบดาตั้มนั้นต้องตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 ส่วนกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลาง (Center Line) เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 แนวแกนดาตั้มอ้างอิง (Datum Axis) จะเกิดจากแกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 ดังแสดงในภาพที่ 7-4

ภาพที่ 7-4 ดาตั้มอันดับที่ 2

ดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum)

ดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) ถูกพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 3 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2

ในกรณีที่ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 เป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ที่เกิดจากพื้นผิว (Feature) ดาตั้มนั้นจะเกิดจากระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 1 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม โดยระนาบดาตั้มนั้นต้องตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 ส่วนกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลาง (Center Line) เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 แนวแกนดาตั้มอ้างอิง (Datum Axis) จะเกิดจากแกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 ดังแสดงในภาพที่ 7-5 เมื่อชิ้นงานมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงครบทั้ง 3 อันดับ จะเกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) หรือศูนย์ของชิ้นงานเสมอ

ภาพที่ 7-5 ดาตั้มอันดับที่ 3

ดาตั้มในสภาวะเสมือน (Virtual Condition Datum)

เมื่อมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงเป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) แกนดาตั้ม (Datum Axis) และจุดดาตั้ม (Datum Point) โดยมีการวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (Maximum Material Boundary, MMB) ในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) จะส่งผลให้เกิดขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงที่อยู่ในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Boundary) ซึ่งจะเรียกขอบเขตนี้ว่า ดาตั้มในสภาวะเสมือน (Virtual Condition Datum, VC) โดยพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงจะต้องไม่ล้ำออกไปด้านนอกหรือล้ำเข้าไปด้านในขอบเขตของสภาวะนี้

ดาตั้มในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุดจะส่งผลให้ระนาบกลางหรือแกนกลางในสภาวะขอบเขตการประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Mating Envelope, U-AME) หรือสภาวะขอบเขตในการประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) สามารถเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้ม (Datum Displacement) ได้ทั้งการขยับของดาตั้ม (Datum Translation / Datum Shift) และการหมุนของดาตั้ม (Datum Rotation) โดยการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มอ้างอิงจะขึ้นอยู่กับลำดับของดาตั้มและระดับของการควบคุมความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ โดยการขยับหรือการหมุนของดาตั้มที่ถูกวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุดจะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระดับความเป็นอิสระของดาตั้มในลำดับที่สูงกว่า และจะมีค่าการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มเปลี่ยนไปตามขนาดในการประกอบจริง (AME) ของดาตั้มอ้างอิง ดังแสดงในภาพที่ 7-6

การเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มจะต้องไม่ทำให้พื้นผิวทั้งหมดของชิ้นงานล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Boundary) นั้นคือ พื้นผิวของตำแหน่งที่ถูกควบคุมด้วยสัญลักษณ์ GD&T จะต้องไม่ล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตสภาวะเสมือนการประกอบ (Virtual Condition Boundary, VC) และพื้นผิวถูกกำหนดเป็นดาตั้มอ้างอิงจะต้องไม่ล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดที่มีความสมบูรณ์แบบทางด้านรูปร่างรูปทรง (Perfect Form at MMC) หรือขอบเขตสภาวะเสมือนการประกอบของดาตั้ม (Virtual Condition Datum, VC)

ภาพที่ 7-6 Virtual Condition Datum ในสภาวะ MMB

เมื่อมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงเป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) แกนดาตั้ม (Datum Axis) และจุดดาตั้ม (Datum Point) โดยมีการวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุด (Least Material Boundary, LMB) ในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) จะส่งผลให้เกิดขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงที่อยู่ในสภาวะที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Boundary) ซึ่งจะเรียกขอบเขตนี้ว่า ดาตั้มในสภาวะเสมือน (Virtual Condition Datum, VC) โดยพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงจะต้องไม่ล้ำออกไปด้านนอกหรือล้ำเข้าไปด้านในขอบเขตของสภาวะนี้

ดาตั้มในสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุดจะส่งผลให้ระนาบกลางหรือแกนกลางในสภาวะขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Minimum Material Envelope, U-AMME) หรือสภาวะขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Minimum Material Envelope, R-AMME) สามารถเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้ม (Datum Displacement) ได้ทั้งการขยับของดาตั้ม (Datum Translation / Datum Shift) และการหมุนของดาตั้ม (Datum Rotation) โดยการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มอ้างอิงจะขึ้นอยู่กับลำดับของดาตั้มและระดับของการควบคุมความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ โดยการขยับหรือการหมุนของดาตั้มที่ถูกวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุน้อยสุดจะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระดับความเป็นอิสระของดาตั้มในลำดับที่สูงกว่า และจะมีค่าการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มเปลี่ยนไปตามขนาดของสภาวะขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุ (AMME) ของดาตั้มอ้างอิง ดังแสดงในภาพที่ 7-7

การเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้มจะต้องไม่ทำให้พื้นผิวทั้งหมดของชิ้นงานล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Boundary) นั้นคือ พื้นผิวของตำแหน่งที่ถูกควบคุมด้วยสัญลักษณ์ GD&T จะต้องไม่ล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตสภาวะเสมือน (Virtual Condition Boundary, VC) และพื้นผิวถูกกำหนดเป็นดาตั้มอ้างอิงจะต้องไม่ล้ำเข้าไปหรือล้ำออกนอกขอบเขตสภาวะเนื้อวัสดุมากที่สุดที่มีความสมบูรณ์แบบทางด้านรูปร่างรูปทรงในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (Perfect Form at LMC) หรือขอบเขตสภาวะเสมือนของดาตั้ม (Virtual Condition Datum, VC)

ภาพที่ 7-7 Virtual Condition Datum ในสภาวะ LMB

กลุ่มของดาตั้ม (Group of Feature of Size Datum)

กลุ่มของดาตั้ม (Group of Feature of Size Datum) เป็นการกำหนดระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) ที่อยู่ในระดับเดียวกันตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป เพื่อสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยกลุ่มของดาตั้มอ้างอิงสามารถเป็นได้ทั้งดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) และดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน

กลุ่มของดาตั้มจะทำให้เกิดดาตั้มอ้างที่เป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) แกนดาตั้ม (Datum Axis) หรือจุดดาตั้ม (Datum Point) ซึ่งดาตั้มอ้างอิงที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดค่าน้อยที่สุดของผลรวมของค่ายกกำลังสอง (Least of the Sum of the Square) ของค่าเบี่ยงเบนของตำแหน่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มของดาตั้ม ซึ่งดาตั้มอ้างอิงที่เกิดขึ้นนั้นจะใช้ในการควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่เสมือนว่าเป็นดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากระนาบกลาง แกนกลางหรือจุดกึ่งกลาง ดังแสดงในภาพที่ 7-8

ภาพที่ 7-8 กลุ่มของดาตั้มในสภาวะ RMB

ภาพที่ 7-9 เป็นตัวอย่างแบบงาน เมื่อกลุ่มของดาตั้ม (Group of Feature of Size Datum) มีการวิเคราะห์ในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (Maximum Material Boundary, MMB) จะส่งผลให้เกิดขอบเขตของดาตั้มอ้างอิงที่อยู่ในสภาวะเสมือน (Virtual Condition Datum, VC) ของกลุ่มของดาตั้มที่มีจำนวนเท่ากับกลุ่มของดาตั้ม ซึ่งขอบเขตสภาวะเสมือนทั้งหมดจะถูกจัดวางทิศทาง (Orientation) และจัดวางตำแหน่ง (Location) อยู่ที่ตำแหน่งในอุดมคติ (True Position) โดยพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงสามารถเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้ม (Datum Displacement) ได้โดยไม่ล้ำออกไปด้านนอกหรือล้ำเข้าไปด้านในขอบเขตของสภาวะนี้

ภาพที่ 7-9 กลุ่มของดาตั้มในสภาวะ MMB

ดาตั้มที่สามารถขยับตำแหน่งได้ (Translation Datum)

ดาตั้มอ้างอิงในแต่ละอันดับที่กำหนดลงในแบบงานจะก่อให้เกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) จะต้องจัดวางทำมุมที่แน่นอน (True Angle) หรืออยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน (True Position) เมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) ส่วนดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) จะต้องจัดวางทำมุมที่แน่นอนหรืออยู่ในตำแหน่งที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาดาตั้มอันดับที่ 2

ดังนั้นการวิเคราะห์ดาตั้มอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 จึงเป็นการกำหนดดาตั้มอ้างอิงจากระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ในสภาวะขอบเขตการประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ถ้าดาตั้มอันดับที่ 2 หรือดาตั้มอันดับที่ 3 มีการควบคุมค่าความเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) จะทำให้สภาวะขอบเขตการประกอบที่อ้างอิงดาตั้มมีทั้งการควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation) และการควบคุมตำแหน่ง (Location) ถ้าผู้ออกแบบต้องการกำหนดให้ดาตั้มอ้างอิงในอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 เกิดจากสภาวะที่ไม่มีการควบคุมตำแหน่ง ผู้ออกแบบจะต้องระบุสัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier) การขยับตำแหน่งของดาตั้ม (Translation) ด้วยการกำหนดสัญลักษณ์  ลงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame) ในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) ลำดับที่ต้องการให้สามารถเกิดการขยับตำแหน่งของดาตั้ม

ภาพที่ 7-10 เป็นตัวอย่างแบบงานเปรียบเทียบระหว่างแบบงานที่แกนดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum Axis) ไม่สามารถขยับตำแหน่งได้กับแบบงานที่แกนดาตั้มอันดับที่ 2 สามารถขยับตำแหน่งได้ โดยชิ้นงานที่แกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 ไม่สามารถขยับได้จะมีตำแหน่ง (Location) ของดาตั้มอ้างอิงที่แน่นอนเท่ากับ 30 มม. เมื่อเทียบกับแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Axis) ส่วนชิ้นงานที่แกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 สามารถขยับได้จะไม่มีการควบคุมตำแหน่งของดาตั้มอ้างอิงเมื่อเทียบกับแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 แต่ยังคงมีการควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation) ของดาตั้มอ้างอิงในบางระดับ

ภาพที่ 7-10 ดาตั้มที่สามารถขยับตำแหน่งได้ (Translation Datum) ของแกนกลาง

ภาพที่ 7-11 เป็นตัวอย่างแบบงานเปรียบเทียบระหว่างแบบงานที่ระนาบดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum Plane) ไม่สามารถขยับตำแหน่งได้กับแบบงานที่ระนาบดาตั้มอันดับที่ 2 สามารถขยับตำแหน่งได้ โดยชิ้นงานที่ระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 ไม่สามารถขยับได้จะมีตำแหน่ง (Location) ของดาตั้มอ้างอิงที่แน่นอนเท่ากับ 5 มม. เมื่อเทียบกับแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Axis) ส่วนชิ้นงานที่แกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 สามารถขยับได้จะไม่มีการควบคุมตำแหน่งของดาตั้มอ้างอิงเมื่อเทียบกับแกนดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 แต่ยังคงมีการควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation) ของดาตั้มอ้างอิงในบางระดับ

ภาพที่ 7-11 ดาตั้มที่สามารถขยับตำแหน่งได้ (Translation Datum) ของแกนกลาง

ดาตั้มลาดเอียง (Inclined Datum)

กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ประกอบด้วยระนาบ (Datum Plane) 3 ระนาบ ได้แก่ ระนาบ XY ระนาบ YZ และระนาบ XZ หรือแกน (Datum Axis) 3 แกน ได้แก่ แกน X แกน Y และแกน Z ซึ่งถูกสร้างตั้งฉากซึ่งกันและกัน แต่ในบางครั้งระนาบดาตั้มอ้างอิงหรือแกนดาตั้มอ้างอิงที่ใช้สร้างกรอบดาตั้มอ้างอิงก็ไม่ได้ตั้งฉากกัน แต่ระนาบดาตั้มนั้นจะมีการระบุมุมของดาตั้มด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เพื่อใช้ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง เราจะเรียกดาตั้มอ้างอิงที่ไม่ตั้งฉากนี้ว่า ดาตั้มลาดเอียง (Inclined Datum)

ภาพที่ 7-12 ดาตั้มลาดเอียง (Inclined Datum)

ภาพที่ 7-12 เป็นการกำหนดระนาบดาตั้ม A (Datum Plane A) ให้เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Plane) และกำหนดระนาบดาตั้ม B (Datum Plane B) ให้เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum Plane) โดยทั้ง 2 ระนาบดาตั้มจะมีการจัดวางที่ตั้งฉากกัน ส่วนระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 (Tertiary Datum Plane) ที่ถูกกำหนดจากระนาบดาตั้ม C (Datum Plane C) จะมีการจัดวางที่ตั้งฉากกับระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 แต่จัดวางทำมุม 45° กับระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 ซึ่งดาตั้มอ้างอิงที่ลาดเอียงอันดับที่ 3 จะก่อให้เกิดตำแหน่งศูนย์ของชิ้นงาน (Origin) จากจุดตัดของระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 ที่ไปตัดกับระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2

ดาตั้มลำดับชั้น (Stepped Datum)

ดาตั้มลำดับชั้น (Stepped Datum) เป็นการกำหนดดาตั้มอ้างอิงที่อยู่ในอันดับเดียวกันตั้งแต่ 2 ดาตั้มอ้างอิงขึ้นไป ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยดาตั้มอ้างอิงนั้นไม่ได้จัดวางอยู่บนระนาบเดียวกัน (Same Plane) หรือจัดวางอยู่บนแกนเดียวกัน (Same Line)

ภาพที่ 7-13 ดาตั้มลำดับชั้น (Stepped Datum)

แบบงานในภาพที่ 7-13 เป็นแบบงานตัวอย่างที่มีการกำหนดดาตั้มลำดับชั้นที่เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิง ซึ่งจะต้องมีการกำหนดระยะห่างของระนาบดาตั้มอ้างอิงทั้งสองด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เท่ากับ 10 มม. และมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T ที่อยู่ในช่องเดียวกัน (Co-Datum)

การสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิงของชิ้นงานตัวอย่างนี้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์มากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากการวิเคราะห์หากรอบดาตั้มอ้างอิงจะไม่สามารถกำหนดค่าระยะห่างระหว่างระนาบดาตั้มอ้างอิงทั้งสองได้ เนื่องจากชิ้นงานจะเกิดความเบี่ยงเบนของขนาด (Size Deviation) ความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทาง (Orientation Deviation) และความเบี่ยงเบนของการจัดวางตำแหน่ง (Location Deviation) ทำให้ไม่สามารถกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงได้ในครั้งแรกที่ทำการวิเคราะห์ และการกำหนดดาตั้มแบบลำดับชั้นจะต้องเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานเท่านั้น นั้นคือชิ้นงานที่ออกแบบไม่ได้ถูกประกอบบนระนาบ (Plane) หรือแกน (Axis) เพียงระนาบเดียวหรือแกนเดียว

กรอบดาตั้มอ้างอิงที่สัมพันธ์กัน (Interrelated Datum Reference Frame)

กรอบดาตั้มอ้างอิงที่สัมพันธ์กัน (Interrelated Datum Reference Frame) เป็นการกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) ที่มีมากกว่า 1 กรอบดาตั้มอ้างอิง เพื่อใช้ในการควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation Control) หรือการจัดวางตำแหน่ง (Location Control) ของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) และจุดกึ่งกลาง (Center Point)

ภาพที่ 7-14 กรอบดาตั้มอ้างอิงที่สัมพันธ์กัน (Interrelated Datum Reference Frame)

การกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงที่สัมพันธ์กันในแต่ละกรอบดาตั้มจะต้องมีดาตั้มอ้างอิงอันดับเดียวกันและตัวเดียวกันอย่างน้อย 1 ดาตั้ม ดังแบบงานตัวอย่างที่แสดงในภาพที่ 7-14 โดยแบบงานดังกล่าวจะมีกรอบดาตั้มอ้างอิง 2 กรอบดาตั้ม โดยที่กรอบดาตั้มอ้างอิงแรกจะเกิดจากระนาบดาตั้ม A (Datum Plane A) ซึ่งถูกกำหนดเป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Plane) และกำหนดให้กลุ่มของดาตั้ม B (Group of Feature of Size) เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum Plane)

กรอบดาตั้มอ้างอิงอีกกรอบหนึ่งจะเกิดจากระนาบดาตั้ม A (Datum Plane A) ซึ่งถูกกำหนดเป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum Plane) เช่นเดียวกับกรอบดาตั้มอ้างอิงที่ผ่านมา และกำหนดให้ระนาบดาตั้ม D (Datum Plane D) เป็นระนาบดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum Plane) ซึ่งการความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง (Tolerance of Position) ของรูทั้ง 2 จะถูกควบคุมจากกรอบดาตั้มอ้างอิง 2 กรอบที่มีเพียงระนาบดาตั้มอันดับที่ 1 เท่านั้นที่ใช้เป็นดาตั้มเดียวกัน

ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target)

ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target) เป็นการกำหนดบางส่วนของพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานให้เป็นดาตั้ม ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (Area) แนวเส้นใดเส้นหนึ่ง (Line) หรือจุดใดจุดหนึ่ง (Point) เพื่อใช้ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)

ภาพที่ 7-15 ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target)

ภาพที่ 7-15 เป็นตัวอย่างของชิ้นงานที่มีการกำหนดดาตั้มเป้าหมาย โดยดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum) จะเป็นระนาบดาตั้ม A (Datum Plane A) และดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum) จะเป็นดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target) ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาตั้มเป้าหมาย B1 B2 B3 และ B4 โดยดาตั้มแต่ละตำแหน่งจะมีการกำหนดระนาบที่ใช้เป็นดาตั้มให้มีการจัดวางทิศทางและอยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน โดยที่มุมและตำแหน่งของดาตั้มเป้าหมาย B ทั้ง 4 ตำแหน่ง จะต้องกำหนดด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เท่านั้น ดาตั้มอ้างอิง B จะใช้ในการสร้างระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ของกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยจะเกิดระนาบดาตั้มที่ตั้งฉากกัน 2 ระนาบ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างดาตั้มเป้าหมายทั้ง 4 ซึ่งจะทำให้ศูนย์ของชิ้นงาน (Origin) มีตำแหน่งอยู่ที่กลางชิ้นงาน

ดาตั้มเป้าหมายเลื่อน (Movable Datum Target)

ดาตั้มเป้าหมายเลื่อน (Movable Datum Target) เป็นการกำหนดบางส่วนของพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานให้เป็นดาตั้ม ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (Area) แนวเส้นใดเส้นหนึ่ง (Line) หรือจุดใดจุดหนึ่ง (Point) เพื่อใช้ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยดาตั้มเป้าหมายเลื่อนจะมีความเป็นอิสระในการขยับ (Degree of Freedom) ในระดับที่ไม่ขัดแย้งกับดาตั้มอ้างอิงในอันดับที่สูงกว่า

ภาพที่ 7-16 ดาตั้มเป้าหมายเลื่อน (Movable Datum Target)

ภาพที่ 7-16 เป็นตัวอย่างของชิ้นงานที่มีการกำหนดดาตั้มเป้าหมายเลื่อน โดยดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum) จะเป็นระนาบดาตั้ม A (Datum Plane A) ดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 (Secondary Datum) จะเป็นดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target) ซึ่งมีทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาตั้มเป้าหมาย B1 และ B2 โดยดาตั้มแต่ละตำแหน่งจะมีการกำหนดระนาบที่ใช้เป็นดาตั้มให้มีการจัดวางทิศทางและอยู่ในตำแหน่งที่แน่นอน โดยที่มุมและตำแหน่งของดาตั้มเป้าหมาย B ทั้ง 2 ตำแหน่ง จะต้องกำหนดด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) และดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) จะเป็นดาตั้มเป้าหมายเลื่อน (Movable Datum Target) ซึ่งมีทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาตั้มเป้าหมาย C1 และ C2 โดยดาตั้มอ้างอิง C จะสามารถขยับในแนวแกน Y ได้ ดาตั้มอ้างอิง B จะใช้ในการสร้างระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ของกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยจะเกิดระนาบดาตั้มที่ตั้งฉากกัน 2 ระนาบ ที่เกิดจากจุดตัดระหว่างดาตั้มเป้าหมายทั้ง 2 ซึ่งจะทำให้ศูนย์ของชิ้นงาน (Origin) มีตำแหน่งอยู่นอกชิ้นงาน

กรอบดาตั้มอ้างอิงแบบกำหนดเอง (Customize Datum Reference Frame)

การกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงตามความต้องการ (Customize Datum Reference Frame) เป็นการกำหนดแนวแกนอ้างอิง X แนวแกนอ้างอิง Y และแนวแกนอ้างอิง Z ลงในแบบงาน พร้อมทั้งระบุว่าดาตั้มอ้างอิงที่กำหนดลงในแบบงานสามารถควบคุม (Constrain) ระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ของการเคลื่อนที่ได้ในระดับไหนบ้างด้วยการกำหนดระดับความเป็นอิสระที่ถูกควบคุมลงในส่วนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Compartment) โดยจะกำหนดระดับความเป็นอิสระที่ต้องการควบคุมจากดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ ด้วยการกำหนดด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กที่อยู่ในวงเล็บ [  ] หลังดาตั้มอ้างอิงนั้นๆ ซึ่งตัวอักษร x จะแทนการควบคุมการขยับในแนวแกน X, ตัวอักษร y จะแทนการควบคุมการขยับในแนวแกน Y, ตัวอักษร z จะแทนการควบคุมการขยับในแนวแกน Z, ตัวอักษร u จะแทนการควบคุมการหมุนรอบแกน X, ตัวอักษร v จะแทนการควบคุมการหมุนรอบแกน Y และตัวอักษร w จะแทนการควบคุมการหมุนรอบแกน Z ตัวอย่างการกำหนดกรอบดาตั้มอ้างอิงตามความต้องการแบบกำหนดเอง แสดงในภาพที่ 7-17

ภาพที่ 7-17 กรอบดาตั้มอ้างอิงแบบกำหนดเอง (Customize Datum Reference Frame)