ORIENTATION CONTROL

การควบคุมการจัดวางทิศทาง

การควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation Control)

การควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation Control) เป็นการควบคุมพื้นผิว (Feature) แต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element) ระนาบกลาง (Plane) และแกนกลาง (Axis) ได้แก่ ความตั้งฉาก (Perpendicularity / Squareness) ความขนาน (Parallelism) ความเป็นมุม (Angularity) รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) และรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface) โดยการควบคุมการจัดวางทิศทางเป็นการควบคุมที่จำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิงลงในแบบงาน ซึ่งจะสามารถกำหนดดาตั้มอ้างอิงได้มากที่สุดไม่เกิน 2 อันดับ

ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของการควบคุมการจัดวางทิศทางสามารถควบคุมได้เฉพาะความเป็นอิสระในการเปลี่ยนตำแหน่งของการหมุน (Rotational Freedom) ได้เท่านั้น โดยไม่สามารถควบคุมความเป็นอิสระในการเปลี่ยนตำแหน่งของการขยับ (Translation Freedom) ได้

การควบคุมความตั้งฉาก (Perpendicularity / Squareness)

ความตั้งฉากสามารถควบคุมได้ทั้งพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) และแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element) ของชิ้นงาน โดยการกำหนดกรอบสัญลักษณ์ GD&T ความตั้งฉากจำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ทุกครั้ง โดยมีดาตั้มอ้างอิงไม่เกิน 2 ดาตั้ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบและความต้องการของผู้ออกแบบ ลักษณะของการควบคุมความตั้งฉากมี 4 รูปแบบ คือ

ภาพที่ 3-1 การควบคุมความตั้งฉากของพื้นผิว (Planar Feature)

ภาพที่ 3-2 การควบคุมความตั้งฉากของระนาบกลาง (Center Plane)

ภาพที่ 3-3 การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลาง (Center Line)

ภาพที่ 3-4 การควบคุมความตั้งฉากของแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element)

การควบคุมความขนาน (Parallelism)

ความขนานสามารถควบคุมได้ทั้งพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) และแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element) ของชิ้นงาน โดยการกำหนดกรอบสัญลักษณ์ GD&T ความขนานจำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ทุกครั้ง โดยมีดาตั้มอ้างอิงไม่เกิน 2 ดาตั้ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบและความต้องการของผู้ออกแบบ ลักษณะของการควบคุมความขนานมี 4 รูปแบบ คือ

ภาพที่ 3-5 การควบคุมความขนานของพื้นผิว (Planar Feature)

ภาพที่ 3-6 การควบคุมความขนานของระนาบกลาง (Center Plane)

ภาพที่ 3-7 การควบคุมความขนานของแกนกลาง (Center Line)

ภาพที่ 3-8 การควบคุมความขนานของแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element)

การควบคุมความเป็นมุม (Angularity)

ความเป็นมุมสามารถควบคุมได้ทั้งพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) และแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element) ของชิ้นงาน โดยการกำหนดกรอบสัญลักษณ์ GD&T ความเป็นมุมจำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) และกำหนดขนาดของมุมด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) ทุกครั้ง โดยมีดาตั้มอ้างอิงไม่เกิน 2 ดาตั้ม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการประกอบและความต้องการของผู้ออกแบบ ลักษณะของการควบคุมความเป็นมุมมี 4 รูปแบบ คือ

ภาพที่ 3-9 การควบคุมความเป็นมุมของพื้นผิว (Planar Feature)

ภาพที่ 3-10 การควบคุมความเป็นมุมของระนาบกลาง (Center Plane)

ภาพที่ 3-11 การควบคุมความเป็นมุมของแกนกลาง (Center Line)

ภาพที่ 3-12 การควบคุมความเป็นมุมของแต่ละแนวบนพื้นผิว (Each Line Element)

การควบคุมการจัดวางทิศทางกับแกนดาตั้มอ้างอิง (Orientation Control with Datum Axis)

การควบคุมการจัดวางทิศทาง (Orientation Control) ได้แก่ การควบคุมความตั้งฉาก (Perpendicularity) การควบคุมความขนาน (Parallelism) และการควบคุมความเป็นมุม (Angularity) สามารถกำหนดดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 (Primary Datum) ได้ทั้งระนาบดาตั้ม (Datum Plane) และแกนดาตั้ม (Datum Axis) ซึ่งการกำหนดแกนดาตั้มเป็นดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 1 จะสามารถควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ (Degree of Freedom) ของตำแหน่งที่ถูกควบคุมได้มากกว่า ทำให้ในบางกรณีผู้ออกแบบสามารถกำหนดดาตั้มอ้างอิงได้เพียง 1 อันดับเท่านั้น

ภาพที่ 3-13 การควบคุมความตั้งฉากกับแกนดาตั้มอ้างอิง

ภาพที่ 3-14 การควบคุมความขนานกับแกนดาตั้มอ้างอิง

ภาพที่ 3-15 การควบคุมความเป็นมุมกับแกนดาตั้มอ้างอิง

การควบคุมการจัดวางทิศทางในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (Orientation Control with RFS)

การควบคุมการจัดวางทิศทางของระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (Regardless of Feature Size, RFS) เป็นการควบคุมให้ระนาบกลางหรือแกนกลางของชิ้นงานมีความความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทาง (Orientation Deviation) มีค่ามากที่สุดได้ไม่เกินค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) ที่กำหนดในแบบงาน โดยขนาดจริง (Actual Size) ที่เปลี่ยนไปของชิ้นงานจะส่งผลให้ขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) และขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Minimum Material Envelope, R-AMME) มีค่าเปลี่ยนไปตามขนาดจริงของชิ้นงาน

ภาพที่ 3-16 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS) ของเพลา ซึ่งขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) หรือขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) จะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดจริงของเพลา เช่น กรณีของเพลาที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.3 สามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) มีค่าเท่ากับ Ø16.4 และขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) มีค่าเท่ากับ Ø16.2 มม. ถ้าเพลามีขนาดเท่ากับ Ø16.0 ก็สามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 เช่นกัน ส่งผลให้ขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) มีค่าเท่ากับ Ø16.1 และขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) มีค่าเท่ากับ Ø15.9 มม.

ภาพที่ 3-16 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS) ของเพลา

ภาพที่ 3-17 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS) ของรู ซึ่งขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) หรือขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) จะมีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดจริงของรู เช่น กรณีของรูที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.0 สามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 ซึ่งจะส่งผลให้ขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) มีค่าเท่ากับ Ø15.9 และขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) มีค่าเท่ากับ Ø16.1 มม. ถ้ารูมีขนาดเท่ากับ Ø15.7 ก็สามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 เช่นกัน ส่งผลให้ขนาดในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AME) มีค่าเท่ากับ Ø15.6 และขอบเขตด้านในเนื้อวัสดุที่อ้างอิงดาตั้ม (R-AMME) มีค่าเท่ากับ Ø15.8 มม.

ภาพที่ 3-17 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะที่ไม่คำนึงถึงเนื้อวัสดุ (RFS) ของรู

การควบคุมการจัดวางทิศทางในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Orientation Control with MMC)

การควบคุมการจัดวางทิศทางของระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition, MMC) เป็นการควบคุมให้พื้นผิวของชิ้นงานไม่เหลื่อมล้ำออกนอกหรือเหลื่อมล้ำเข้าไปในขอบเขตสภาวะเสมือน (Virtual Condition Boundary, VC) ซึ่งแกนกลางของชิ้นงานจะมีความความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทาง (Orientation Deviation) เปลี่ยนไปตามขนาดจริงของชิ้นงาน โดยชิ้นงานในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) จะมีค่าความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทางได้ไม่เกินค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน (Stated Tolerance) ส่วนชิ้นงานที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุดจะมีสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทางได้มากกว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนโดยรวม (Total Tolerance) ของการจัดวางทิศทางที่เกิดขึ้นจะมีค่าเท่ากับผลต่างระหว่างขนาดของขอบเขตในสภาวะเสมือน (VC) กับขนาดของชิ้นงานจริงที่เกิดขึ้น (Actual Size) ซึ่งสามารถคำนวณหาได้จากสูตร

Total Tolerance = | VC - Actual Size |

ภาพที่ 3-18 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) ของเพลา โดยขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) จะมีค่าคงที่ไม่ว่าเพลาจะมีขนาดเป็นเท่าไร ซึ่งขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ในแบบงานตัวอย่างมีค่าเท่ากับ Ø 16.4 ดังนั้นในกรณีของเพลาที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.3 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 ส่วนเพลามีขนาดเท่ากับ Ø16.0 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.4

ภาพที่ 3-18 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) ของเพลา

ภาพที่ 3-19 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) ของรู โดยขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) จะมีค่าคงที่ไม่ว่ารูจะมีขนาดเป็นเท่าไร ซึ่งขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ในแบบงานตัวอย่างมีค่าเท่ากับ Ø15.6 ดังนั้นในกรณีของรูที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.0 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.4 ส่วนรูมีขนาดเท่ากับ Ø15.7 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1

ภาพที่ 3-19 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) ของรู

การควบคุมการจัดวางทิศทางในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (Orientation Control with LMC)

การควบคุมการจัดวางทิศทางของระนาบกลาง (Center Plane) หรือแกนกลาง (Center Line) ในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (Least Material Condition, LMC) เป็นการควบคุมให้พื้นผิวของชิ้นงานไม่เหลื่อมล้ำออกนอกหรือเหลื่อมล้ำเข้าไปในขอบเขตสภาวะเสมือน (Virtual Condition Boundary, VC) ซึ่งแกนกลางของชิ้นงานจะมีความความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทาง (Orientation Deviation) เปลี่ยนไปตามขนาดจริงของชิ้นงาน โดยชิ้นงานในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) จะมีค่าความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทางได้ไม่เกินค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน (Stated Tolerance) ส่วนชิ้นงานที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุดจะมีสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของการจัดวางทิศทางได้มากกว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนโดยรวม (Total Tolerance) ของการจัดวางทิศทางที่เกิดขึ้นจะมีค่าเท่ากับผลต่างระหว่างขนาดของขอบเขตในสภาวะเสมือน (VC) กับขนาดของชิ้นงานจริงที่เกิดขึ้น (Actual Size) ซึ่งสามารถคำนวณหาได้จากสูตร

Total Tolerance = | VC - Actual Size |

ภาพที่ 3-20 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) ของเพลา โดยขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) จะมีค่าคงที่ไม่ว่าเพลาจะมีขนาดเป็นเท่าไร ซึ่งขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ในแบบงานตัวอย่างมีค่าเท่ากับ Ø15.9 ดังนั้นในกรณีของเพลาที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.3 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.4 ส่วนเพลามีขนาดเท่ากับ Ø16.0 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1

ภาพที่ 3-20 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) ของเพลา

ภาพที่ 3-21 เป็นตัวอย่างของการควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) ของรู โดยขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) จะมีค่าคงที่ไม่ว่ารูจะมีขนาดเป็นเท่าไร ซึ่งขนาดของขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ในแบบงานตัวอย่างมีค่าเท่ากับ Ø16.1 ดังนั้นในกรณีของรูที่มีขนาดเท่ากับ Ø16.0 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.1 ส่วนรูมีขนาดเท่ากับ Ø15.7 จะสามารถเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากได้มากที่สุดเท่ากับ 0.4

ภาพที่ 3-21 การวิเคราะห์การควบคุมความตั้งฉากของแกนกลางในสภาวะเนื้อวัสดุน้อยสุด (LMC) ของรู

การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเป็นศูนย์ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Zero Tolerance at MMC)

การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition, MMC) สามารถสร้างขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ของชิ้นงานได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยไม่กระทบกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน (Assembly Condition) ของตำแหน่งนั้นๆ

แบบงานในภาพที่ 3-22 เป็นการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาด (Size Tolerance) เท่ากับ +0.3 / -0 และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความตั้งฉาก (Perpendicularity Tolerance) เท่ากับ 0.1 ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) ทำให้ได้ขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) มีค่าเท่ากับ Ø16.4 ทำให้ชิ้นงานที่มีขนาดเกิน Ø16.3 จะถูกปฏิเสธ (Reject) เนื่องจากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของชิ้นงานมากกว่าขนาดที่กำหนดในแบบงาน แม้ว่าพื้นผิวที่ถูกควบคุมความตั้งฉากจะยังคงอยู่ในขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) เช่น ชิ้นงานที่มีขนาด Ø16.35 และเกิดค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉาก 0.05 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานจริง

ภาพที่ 3-22 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความตั้งฉากในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC)

แบบงานในภาพที่ 3-23 เป็นการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความตั้งฉาก (Perpendicularity Tolerance) เท่ากับ 0 ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC) โดยกำหนดขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ให้มีค่าเท่ากับ Ø16.4 เช่นเดียวกับแบบงานในภาพที่ 3-22 ทำให้ชิ้นงานที่มีพื้นผิวที่ถูกควบคุมความตั้งฉากอยู่ในขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) ถูกยอมรับ (Accept) ทั้งหมด ไม่ว่าค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉากจะมีขนาดเป็นเท่าไรก็ตาม ซึ่งส่งผลให้ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาดเพิ่มเป็น +0.4 / -0  ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานจริง

ภาพที่ 3-23 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (MMC)

การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนสูงสุด (Maximum Tolerance Specified)

แบบงานในภาพที่ 3-24 เป็นการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนสูงสุด (Maximum Tolerance Specified) เป็นการเพิ่มเงื่อนไขของการควบคุมค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความตั้งฉาก (Perpendicularity Tolerance) โดยจะยอมรับ (Accept) ชิ้นงานเมื่อชิ้นงานนั้นมีพื้นผิวที่ถูกควบคุมความตั้งฉากอยู่ในขอบเขตสภาวะเสมือน (VC) และชิ้นงานนั้นจะต้องมีค่าความเบี่ยงเบนของความตั้งฉาก (Perpendicularity Deviation) ไม่เกิน 0.15

ภาพที่ 3-24 การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนสูงสุด (Maximum Tolerance Specified)

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line Control)

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) จัดอยู่ในกลุ่มของการควบคุมร่วม (Composite Control) ซึ่งสามารถควบคุมได้ทั้งรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) การวัดวางตำแหน่ง (Location) และขนาด (Size) ดังนั้นการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ จึงจัดเป็นการควบคุมการจัดวางทิศทางแบบหนึ่ง โดยการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T รูปโครงร่างของเส้นใดๆ จะเป็นการควบคุมทั้งการจัดวางทิศทางและขนาดในเวลาเดียวกัน โดยการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ จะสามารถควบคุมพื้นผิวได้มากกว่า 1 พื้นผิวที่มีลักษณะโครงร่างที่สัมพันธ์กัน ดังแสดงในภาพที่ 3-25

ภาพที่ 3-25 การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line)

การควบคุมรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface Control)

การควบคุมรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface) จัดอยู่ในกลุ่มของการควบคุมร่วม (Composite Control) เช่นเดียวกับรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ซึ่งสามารถควบคุมได้ทั้งรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) การวัดวางตำแหน่ง (Location) และขนาด (Size) ดังนั้นการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ จึงจัดเป็นการควบคุมการจัดวางทิศทางแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ดังแสดงในภาพที่ 3-26

ภาพที่ 3-26 การควบคุมรูปโครงร่างของพื้นผิวใดๆ (Profile of a Surface)

ความเบี่ยงเบนด้านการจัดวางทิศทางที่เกิดจากการผลิต (Orientation Deviation from Manufacturing)

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทางด้านการจัดวางทิศทาง (Orientation Tolerance) ที่ถูกกำหนดลงในแบบงานไม่ควรจะมีค่าไม่มากไปกว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาด (Size Tolerance) ของพื้นผิวนั้นๆ โดยค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นได้จาก 3 ส่วน คือ ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการกำหนดค่าลงในแบบงาน (Defined Tolerance) ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากค่าความเบี่ยงเบนแปรผัน (Variable Deviation) โดยความสามารถในการผลิตในขั้นตอนสุดท้ายจะต้องมีความสามารถในการผลิตที่ดีกว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั้ง 3 ส่วนดังที่ได้กล่าวมา

ส่วนค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ได้จากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปจะมีเฉพาะการควบคุมความตั้งฉาก (Perpendicularity) เท่านั้น ดังแสดงในตารางที่ 3-1 ซึ่งค่าความคลาดเคลื่อนที่ได้จากกรรมวิธีการผลิตจริงๆ จะมีค่าน้อยกว่าค่าที่ได้จากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปเสมอ 

ตารางที่ 3-1 ตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปของความตั้งฉาก

ที่มา : ISO 2768-2 General Tolerances – Part 2

ความขนาน (Parallelism) จะไม่มีการควบคุมจากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) ถ้าในแบบงานไม่มีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความขนาน ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะเกิดจากค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากค่าความเบี่ยงเบนแปรผัน (Variable Deviation) ที่เกิดจากการควบคุมโดยกฎข้อที่ 1 นั้นคือ ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความขนานจะมีค่าได้ไม่เกินค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาด (Size Tolerance)

ความเป็นมุม (Angularity) ก็ไม่มีการควบคุมจากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปทางด้านรูปร่างรูปทรง ถ้าในแบบงานไม่มีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความเป็นมุม จะต้องกำหนดขนาดมุม (Angular Dimension) ที่มีค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของมุม ถ้าไม่กำหนด ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะถูกควบคุมจากจากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปของมุม ดังแสดงในตารางที่ 3-2

ตารางที่ 3-2 ตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปของมุม

ที่มา : ISO 2768-1 General Tolerances – Part 1