Profile of a Line

รูปโครงร่างของเส้นใดๆ

รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line)

รูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) คือ สภาวะที่แต่ละแนวของเส้นโครงร่าง (Each Line Element) ในแต่ระนาบของพื้นผิวอยู่ในตำแหน่งที่แน่นอนที่ถูกกำหนดด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ สามารถควบคุมได้เฉพาะพื้นผิว (Feature) เท่านั้น โดยสามารถควบคุมพื้นผิวได้มากกว่า 1 พื้นผิวและพื้นผิวที่ถูกควบคุมจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

รูปโครงร่างของเส้นใดๆ สามารถกำหนดดาตั้มอ้างอิงที่เป็นได้ทั้ง พื้นผิวดาตั้ม (Datum Feature) ระนาบกลาง (Datum Plane) แกนกลาง (Datum Axis) หรือจุดกึ่งกลาง (Datum Point) หรือเป็นการควบคุมกลุ่มของพื้นผิวที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดดาตั้มอ้างอิง ตัวอย่างการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T รูปโครงร่างของเส้นใดๆ แสดงในภาพที่ 16-1

ภาพที่ 16-1 ตัวอย่างแบบงานที่มีสัญลักษณ์ GD&T รูปโครงร่างของเส้นใดๆ

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line Control)

ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) มีลักษณะเป็นเส้นโครงร่าง 2 เส้น ที่มีระยะห่างเท่าๆ (2 Offset Profiles) กันเมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างในอุดมคติ (True Profile) ซึ่งระยะห่างของเส้นขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนในแต่ละด้านมีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) ที่กำหนดในแบบงาน โดยค่าความเบี่ยงเบนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line Deviation) คือ ค่าของระยะห่างของตำแหน่งใดๆ ของเส้นบนพื้นผิวชิ้นงานที่มีระยะห่างจากตำแหน่งของเส้นในอุดมคติมากที่สุด

ภาพที่ 16-2 แสดงถึงขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ โดยการบอกขนาดของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ต้องมีการระบุขนาดและตำแหน่งที่ต้องการควบคุมด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เท่านั้น

ภาพที่ 16-2 ขอบพิกัดความคลาดเคลื่อนของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อเทียบกับดาตั้มอ้างอิง (Profile of a Line with Datum)

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) อาจจะมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงหรือไม่มีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงก็ได้ขึ้นอยู่เงื่อนไขการใช้งาน โดยที่การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ไม่ว่าจะมีการกำหนดดาตั้มหรือไม่มีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงจะต้องมีการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างโครงร่างซึ่งกันและกันเสมอ ภาพที่ 16-3 เป็นตัวอย่างของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ด้วยดาตั้มอ้างอิง 3 อันดับ จะส่งผลให้แนวของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Zone) ที่ใช้ในการควบคุมโครงร่างของเส้นเป็นแนวขนานกับระนาบดาตั้ม A มีระยะห่างตามอุดมคติเท่ากับ 45 มม. เมื่ออ้างอิงกับระนาบดาตั้ม B มีระยะห่างตามอุดมคติเท่ากับ 50 มม. เมื่ออ้างอิงกับระนาบดาตั้ม C และมีโครงร่างสัมพันธ์กันกับลักษณะของโครงร่างของเส้นในอุดมคติ โดยมีการอ้างอิงตำแหน่งของเส้นโครงร่างที่ถูกควบคุมซึ่งกันและกัน

ภาพที่ 16-3 การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิง 3 ดาตั้ม

ภาพที่ 16-4 เป็นตัวอย่างของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ด้วยดาตั้มอ้างอิง 2 อันดับ จะส่งผลให้แนวของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ใช้ในการควบคุมโครงร่างของเส้นเป็นแนวขนานกับระนาบดาตั้ม A มีระยะห่างตามอุดมคติเท่ากับ 45 มม. เมื่ออ้างอิงกับระนาบดาตั้ม B และมีโครงร่างสัมพันธ์กันกับลักษณะของโครงร่างของเส้นในอุดมคติ โดยมีการอ้างอิงตำแหน่งของเส้นโครงร่างที่ถูกควบคุมซึ่งกันและกัน

ภาพที่ 16-4 การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิง 2 ดาตั้ม

ภาพที่ 16-5 เป็นตัวอย่างของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ด้วยดาตั้มอ้างอิง 1 อันดับ จะส่งผลให้แนวของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ใช้ในการควบคุมโครงร่างของเส้นเป็นแนวขนานกับระนาบดาตั้ม A และมีโครงร่างสัมพันธ์กันกับลักษณะของโครงร่างของเส้นในอุดมคติ โดยมีการอ้างอิงตำแหน่งของเส้นโครงร่างที่ถูกควบคุมซึ่งกันและกัน

ภาพที่ 16-5 การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิง 1 ดาตั้ม

ภาพที่ 16-6 เป็นตัวอย่างของการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อไม่มีการกำหนดดาตั้มอ้างอิง จะส่งผลให้มีการควบคุมเฉพาะโครงร่างของเส้น ซึ่งโครงร่างของเส้นต้องสัมพันธ์กันกับลักษณะของโครงร่างของเส้นในอุดมคติ โดยมีการอ้างอิงตำแหน่งของเส้นโครงร่างที่ถูกควบคุมซึ่งกันและกัน

ภาพที่ 16-6 การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เมื่อไม่มีการกำหนดดาตั้มอ้างอิง

การควบคุมร่วมของการควบคุมรูปโครงร่าง (Composite Control of Profile)

การควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) มีลักษณะของการควบคุมเป็นการควบคุมร่วมกัน (Composite Control) ระหว่าง GD&T พื้นฐาน ได้แก่ 

โดยจะเป็นการควบคุมร่วมกันแบบใดบ้างนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะและจำนวนของดาตั้มอ้างอิง

ภาพที่ 16-7 การควบคุมร่วมของรูปโครงร่าง

ภาพที่ 16-7 เป็นภาพตัวอย่างของการควบคุมร่วมของรูปโครงร่าง โดยภาพที่ 16-7 (A) เป็นลักษณะของการควบคุมขนาด โดยขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ส่งผลให้เสมือนว่ารูปโครงร่างของเส้นใดๆ มีการควบคุมขนาด ซึ่งพื้นผิวจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กได้ แต่ต้องไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเส้นโครงร่างออกนอกขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน

ภาพที่ 16-7 (B) เป็นลักษณะของการควบคุมตำแหน่ง โดยขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ส่งผลให้เสมือนว่ารูปโครงร่างของเส้นใดๆ มีการควบคุมการจัดวางตำแหน่ง ซึ่งพื้นผิวจะสามารถขยับเปลี่ยนตำแหน่งได้โดยไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเส้นโครงร่างออกนอกขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน

ภาพที่ 16-7 (C) เป็นลักษณะของการควบคุมทิศทาง โดยขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ส่งผลให้เสมือนว่ารูปโครงร่างของเส้นใดๆ มีการควบคุมการจัดวางทิศทาง ซึ่งพื้นผิวจะสามารถหมุนเปลี่ยนตำแหน่งได้โดยไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเส้นโครงร่างออกนอกขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน

ภาพที่ 16-7 (D) เป็นลักษณะของการควบคุมรูปทรง โดยขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ ส่งผลให้เสมือนว่ารูปโครงร่างของเส้นใดๆ มีการควบคุมรูปทรง ซึ่งพื้นผิวจะสามารถบิดเบี้ยวได้โดยไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของเส้นโครงร่างออกนอกขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน

สัญลักษณ์กำหนดการควบคุมรูปโครงร่างโดยรอบทั้งหมด (All Around Symbol)

สัญลักษณ์กำหนดกำหนดการควบคุมรูปโครงร่างโดยรอบทั้งหมด (All Around Symbol) เป็นการกำหนดให้แนวเส้นหรือพื้นผิวมีการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) โดยรอบทั้งหมดในมุมมองที่เห็นในแบบงาน โดยการกำหนดสัญลักษณ์การควบคุมโดยรอบทั้งหมด ดังแสดงในภาพที่ 16-8

ภาพที่ 16-8 การควบคุมรูปโครงร่างโดยรอบทั้งหมด

สัญลักษณ์กำหนดช่วงของการควบคุมรูปโครงร่าง (Between Symbol)

สัญลักษณ์กำหนดช่วงของการควบคุมรูปโครงร่าง (Between Symbol) เป็นการกำหนดขอบเขตของการควบคุมให้แนวเส้นหรือพื้นผิวมีการควบคุมรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) มีการควบคุมตามช่วงที่กำหนด โดยการกำหนดสัญลักษณ์ที่มีการระบุตำแหน่งของช่วงที่ต้องการควบคุม ดังแสดงในภาพที่ 16-9

ภาพที่ 16-9 การกำหนดช่วงของการควบคุมรูปโครงร่าง

การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed Profile Tolerance)

เมื่อไม่มีการกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbol) ใดๆ ลงในแบบงาน ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ (Profile of a Line) จะเป็นขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้น (Adds Material Direction) และด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลง (Removes Material Direction) มีระยะห่างเท่าๆ กันเมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ (True Profile) ตัวอย่างเช่น ถ้าแบบงานมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เท่ากับ 3 มม. หมายความค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นจะมีระยะห่าง 1.5 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ และขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลงจะมีระยะห่าง 1.5 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติเช่นกัน

ถ้าต้องการให้ระยะห่างของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลงและด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นมีค่าไม่เท่ากัน การกำหนดสัญลักษณ์ GD&T จะมีการกำหนดสัญลักษณ์ปรับปรุง การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed Profile Tolerance) ในส่วนของค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value Compartment) พร้อมทั้งระบุระยะของขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ ภาพที่ 16-10 เป็นตัวอย่างการแปลความหมายของการกำหนดสัญลักษณ์การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน โดยแบบงานมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของรูปโครงร่างของเส้นใดๆ เท่ากับ 3 มม. และกำหนดค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากันเท่ากับ 2 มม. หมายความค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้นจะมีระยะห่าง 2 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ และขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลงจะมีระยะห่าง 1 มม. เมื่อเทียบกับเส้นโครงร่างของชิ้นงานในอุดมคติ

ภาพที่ 16-10 การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน

การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านเดียว (Unilateral Tolerance)

การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนเพียงด้านเดียว (Unilateral Tolerance) สามารถกำหนดได้ โดยใช้สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbol) การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากัน (Unequally Disposed Profile) ได้เช่นกัน ถ้าต้องการกำหนดให้ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนอยู่ในด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุเพิ่มขึ้น (Adds Material Direction) เพียงอย่างเดียวจะกำหนดค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากันเท่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน เช่น 3 U 3 ดังแสดงในภาพที่ 16-11 

ภาพที่ 16-11 การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านเดียว

แต่ถ้าต้องการกำหนดให้ขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนอยู่ในด้านที่ทำให้เนื้อวัสดุลดลง (Removes Material Direction) เพียงอย่างเดียวจะกำหนดค่าขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนที่ไม่เท่ากันเป็นศูนย์ เช่น 3 U 0 ดังแสดงในภาพที่ 16-12

ภาพที่ 16-12 การกำหนดขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อนด้านเดียว