Datum Reference

ดาตั้มอ้างอิง

ดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference)

ดาตั้มอ้างอิง คือ ระนาบ (Plane) แกน (Axis) หรือจุด (Point) ในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์ด้านรูปทรง (Perfect Form) มีความสมบูรณ์ด้านการจัดวางทิศทาง (Perfect Orientation) หรือมีความสมบูรณ์ด้านการจัดวางตำแหน่ง (Perfect Location) เพื่อใช้ในการอ้างอิงทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Axis) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) โดยการระบุดาตั้มอ้างอิงในแบบงานต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งานเป็นหลักและการกำหนดดาตั้มอ้างอิงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T 1 กรอบจะมีดาตั้มอ้างอิงได้ไม่เกิน 3 อันดับ

ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ (Degree of Freedom)

ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ เป็นจำนวนทิศทางของพื้นผิวหรือชิ้นงานที่สามารถขยับหรือหมุนเปลี่ยนตำแหน่งได้ โดยชิ้นงานที่มีความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่มากที่สุดคือชิ้นงานที่ไม่มีการควบคุมตำแหน่ง (Position Control) หรือทิศทาง (Orientation Control) นั้นคือชิ้นงานนั้นไม่มีการควบคุมตำแหน่งอ้างอิงกับดาตั้ม โดยชิ้นงานนั้นจะมีความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ทั้งหมด 6 ระดับ (6 Degrees of Freedom) ประกอบด้วยระดับการเคลื่อนที่ในแนวแกน (Translation Freedom) 3 ระดับ ได้แก่ 

โดยที่แนวแกน X Y Z จะเป็นแนวแกนอ้างอิงในอุดมคติที่ตั้งฉากซึ่งกันและกัน และระดับของการหมุนรอบแนวแกน (Rotational Freedom) 3 ระดับ ได้แก่

ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ แสดงในภาพที่ 3-1

ภาพที่ 3-1 ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่

การวิเคราะห์ระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ มีความสำคัญมากในระดับของการออกแบบชิ้นงานเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน เนื่องจากดาตั้มอ้างอิงที่กำหนดในแบบงานเป็นสิ่งที่ใช้ในการกำหนดระดับความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ของชิ้นงานเมื่ออยู่ในเงื่อนไขการประกอบ และการกำหนดดาตั้มอ้างอิงที่ถูกต้องจะนำไปสู่การกำหนดศูนย์เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการผลิตหรือการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงานที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน

การควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่ (DOF’s Constrain)

เมื่อมีการกำหนดพื้นผิวอ้างอิงเพื่อควบคุมตำแหน่งของชิ้นงาน พื้นผิวอ้างอิงนั้นจะเรียกว่า ดาตั้ม (Datum) ซึ่งดาตั้มจะทำให้ชิ้นงานมีความอิสระในการเคลื่อนที่ไม่ครบทั้ง 6 ระดับ การกำหนดดาตั้มเพื่อใช้ในการควบคุมชิ้นงานด้วยสัญลักษณ์ GD&T จะกำหนดได้มากที่สุดไม่เกิน 3 อันดับ โดยจะถูกกำหนดตามลำดับการประกอบใช้งาน ได้แก่ 

ระดับของความเป็นอิสระในการเคลื่อนที่ในแต่ละทิศทางจะถูกควบคุมการเคลื่อนที่จากดาตั้มอ้างอิง ซึ่งลักษณะของการควบคุมจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของดาตั้มอ้างอิง เช่น

ภาพที่ 3-2 การควบคุมระดับความเป็นอิสระของการเคลื่อนที่

กรอบดาต้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)

กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) เป็นระบบการอ้างอิงของชิ้นงานในแบบงาน ดังแสดงในภาพที่ 3-3 กรอบดาตั้มอ้างอิงประกอบด้วย

ภาพที่ 3-3 กรอบดาตั้มอ้างอิง

ดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum)

ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 1 จะถูกสร้างขึ้นอย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องอ้างอิงกับระนาบ แกนหรือจุดใดๆ

ภาพที่ 3-4 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 1 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 3 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มโดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมาย ได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบโดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มไปประกบให้แนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง

ภาพที่ 3-4 การกำหนดพื้นผิวเป็นดาตั้มอันดับที่ 1

ภาพที่ 3-5 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิง ในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลางเป็นดาตั้มอันดับที่ 1 ซึ่งแนวแกนอ้างอิง (Datum Axis) คือ แกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Mating Envelope, U-AME) ของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มในแบบงาน โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า รูที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงจะถูกนำไปประกอบกับเพลาที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของอีกชิ้นงานหนึ่ง

ภาพที่ 3-5 การกำหนดแกนกลางเป็นดาตั้มอันดับที่ 1

ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum)

ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 2 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1

ภาพที่ 3-6 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 2 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม และต้องตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบ โดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ไปประกบกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง

ภาพที่ 3-6 การกำหนดพื้นผิวเป็นดาตั้มอันดับที่ 2

ภาพที่ 3-7 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิง ในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้แกนกลาง (Center Line) เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ซึ่งแนวแกนอ้างอิง (Datum Axis) คือ แกนกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า เพลาที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 2 จะถูกนำไปประกอบกับรูที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง

ภาพที่ 3-7 การกำหนดแกนกลางเป็นดาตั้มอันดับที่ 2

ดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum)

ผู้ออกแบบสามารถกำหนดพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Center Plane) แกนกลาง (Center Line) หรือจุดกึ่งกลาง (Center Point) เพื่อใช้เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) โดยจะพิจารณาจากลำดับในการประกอบหรือเงื่อนไขในการใช้งาน โดยดาตั้มอันดับที่ 3 จะถูกสร้างขึ้นโดยมีการอ้างอิงการจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือตำแหน่ง (Location) ที่แน่นอนเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2

ภาพที่ 3-8 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบสัมผัสที่อยู่ด้านนอกสุด (Outer Tangent Plane) ที่เกิดจากจุดสัมผัสพื้นผิว 1 จุดของพื้นผิวที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้ม และระนาบนี้จะต้องจัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ชิ้นงานนี้จะมีการประกอบ โดยใช้พื้นผิวแบนราบที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ไปประกบกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 และพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 2 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง

ภาพที่ 3-8 การกำหนดพื้นผิวเป็นดาตั้มอันดับที่ 3

ส่วนภาพที่ 3-9 เป็นการวิเคราะห์ดาตั้มอ้างอิงในกรณีที่ผู้ออกแบบใช้ระนาบกลาง (Center Plane) เป็นดาตั้มอันดับที่ 3 ซึ่งระนาบดาตั้มอ้างอิง (Datum Plane) คือ ระนาบกลางของขอบเขตในสภาวะประกอบที่อ้างอิงดาตั้ม (Related Actual Mating Envelope, R-AME) ที่จัดวางตั้งฉากเมื่อเทียบกับดาตั้มอันดับที่ 1 และดาตั้มอันดับที่ 2 โดยที่ผู้อ่านแบบสามารถแปลความหมายได้ว่า ร่องของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิงอันดับที่ 3 จะถูกนำไปประกอบกับชิ้นงานแท่งสี่เหลี่ยม โดยพื้นผิวดาตั้มอันดับที่ 1 ยังคงประกบแนบสนิทกับพื้นผิวแบนราบของอีกชิ้นงานหนึ่ง และรูที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอันดับที่ 2 ยังคงประกอบกับเพลาของอีกชิ้นงานหนึ่ง ดังนั้นดาตั้มอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 จะก่อให้เกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) เพื่อใช้ในการอ้างอิงทิศทางและตำแหน่งของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Line) หรือจุด (Point) ในส่วนอื่นๆ ของชิ้นงาน

ภาพที่ 3-9 การกำหนดแกนกลางเป็นดาตั้มอันดับที่ 3

เมื่อชิ้นงานมีการกำหนดดาตั้มอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นระนาบดาตั้ม แกนดาตั้มหรือจุดดาตั้มครบทั้ง 3 อันดับ จะเกิดกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) โดยอัตโนมัติ ดังแสดงในภาพที่ 3-10

ภาพที่ 3-10 กรอบดาตั้มอ้างอิงที่เกิดจากการกำหนดดาตั้มอ้างอิงครบทั้ง 3 อันดับ

พื้นผิวดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature)

พื้นผิวดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature) คือพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานที่ถูกกำหนดให้เป็นดาตั้มอ้างอิง ซึ่งการควบคุมรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือการจัดวางตำแหน่ง (Location) ของพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดีและมีค่าความเบี่ยงเบนทางด้านรูปร่างรูปทรง (GD&T) น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แม้ว่าจะไม่ได้มีการกำหนดการควบคุมรูปร่างรูปทรงใดๆ ลงไปในแบบงาน ดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ที่เกิดจากพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์แบบเสมอแม้ว่าพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงจะมีความไม่สมบูรณ์แบบทางด้านรูปทรง ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (A)

ในกรณีที่มีการใช้พื้นผิวดาตั้มอ้างอิงมากกว่า 1 ผิว การกำหนดสัญลักษณ์ดาตั้มอ้างอิงจะถูกกำหนดที่เส้นลูกโซ่ (Phantom Line) ที่เขียนเชื่อมต่อระหว่างพื้นผิวดาตั้มที่ต้องการ ซึ่งดาตั้มอ้างอิงจะถูกสร้างขึ้นมาเสมือนว่าพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงนั้นเป็นพื้นผิวเดียวกัน ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (B)

ถ้าไม่มีการใช้เส้นลูกโซ่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นผิวดาตั้ม และมีการกำหนดสัญลักษณ์ดาตั้มที่พื้นผิวใดพื้นผิวหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดาตั้มอ้างอิงจะถูกสร้างจากพื้นผิวนั้นๆ เท่านั้น ดังแสดงในภาพที่ 3-11 (C)

ภาพที่ 3-11 การสร้างระนาบดาตั้มจากพื้นผิวดาตั้มอ้างอิงแบบต่างๆ

พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature Simulator)

พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature Simulator) เป็นการกำหนดให้พื้นผิว (Feature) ของอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบค่าความเบี่ยงเป็นทางด้านรูปร่างรูปทรง (GD&T) เป็นตัวแทนของดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ซึ่งพื้นผิวที่ถูกใช้เป็นพื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงต้องมีการควบคุมรูปร่างรูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) หรือการจัดวางตำแหน่ง (Location) ที่ดีเมื่อเทียบกับพื้นผิวดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature) ของชิ้นงาน ดังแสดงในภาพที่ 3-12

ภาพที่ 3-12 พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง

ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target)

ดาตั้มเป้าหมาย (Datum Target) เป็นการกำหนดบางส่วนของพื้นผิว (Feature) ของชิ้นงานให้เป็นดาตั้ม ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง (Area) แนวเส้นใดเส้นหนึ่ง (Line) หรือจุดใดจุดหนึ่ง (Point) เพื่อใช้ในการสร้างกรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame)

ภาพที่ 3-13 เป็นตัวอย่างของชิ้นงานที่มีการกำหนดดาตั้มเป้าหมาย โดยดาตั้ม A จะมีทั้งหมด 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ดาตั้มเป้าหมาย A1 A2 A3 และ A4 โดยดาตั้มแต่ละตำแหน่งจะมีการกำหนดพื้นที่ที่ใช้เป็นดาตั้มให้อยู่ในขอบเขตเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มม. โดยตำแหน่งของดาตั้มเป้าหมาย A จะต้องกำหนดด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) เท่านั้น ซึ่งดาตั้ม A จะถูกวิเคราะห์เป็นระนาบดาตั้ม (Datum Plane) ดาตั้ม B เป็นแกนดาตั้ม (Datum Axis) มีเพียง 1 ตำแหน่ง คือ ดาตั้มเป้าหมาย B1 ซึ่งแบบงานกำหนดแนวแกนดาตั้มเป้าหมายด้วยเส้นลูกโซ่ (Phantom Line) ที่มีการกำหนดตำแหน่งของแนวเส้นด้วยขนาดในอุดมคติเมื่อเทียบกับดาตั้ม A ส่วนดาตั้มเป้าหมาย C เป็นจุดดาตั้ม (Datum Point) มีเพียง 1 ตำแหน่งเช่นกัน คือ ดาตั้มเป้าหมาย C1 ซึ่งแบบงานกำหนดจุดดาตั้มที่มีการบอกตำแหน่งของตำแหน่งจุดดาตั้มนั้นด้วยขนาดในอุดมคติเมื่อเทียบกับดาตั้ม A และดาตั้ม B

พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิง (Datum Feature Simulator) ของดาตั้มเป้าหมาย A เป็นสลักทรงกระบอกผิวหน้าเรียบ (Flat End Pin) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 มม. จำนวน 4 ตัว ซึ่งจะก่อให้เกิดระนาบดาตั้มอ้างอิง พื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงของดาตั้มเป้าหมาย B เป็นแนวขอบข้างของสลักทรงกระบอกซึ่งก่อให้เกิดแนวการอ้างอิงที่เป็นเส้นตรง ส่วนพื้นผิวจำลองดาตั้มอ้างอิงของดาตั้มเป้าหมาย C เป็นส่วนปลายของสลักทรงกระบอกปลายทรงกลม (Ball End Pin) ซึ่งก่อให้เกิดตำแหน่งอ้างอิง 1 ตำแหน่ง

ภาพที่ 3-13 ดาตั้มเป้าหมาย

หลักการควบคุมพื้นผิว (Defined Feature Concept)

ฟีเจอร์ (Feature) หรือฟีเจอร์ออฟไซซ์ (Feature of Size) ต้องมีการควบคุมคุณลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

ภาพที่ 3-14 เป็นตัวอย่างแบบงานที่มีการควบคุมพื้นผิวครบสมบูรณ์ โดยการควบคุมต่างๆ ที่กล่าวมาอาจจะมีการระบุลักษณะของการควบคุมพร้อมทั้งค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนลงไปโดยตรงในแบบงาน (Define Tolerance) เป็นการควบคุมจากค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) หรืออาจเกิดการควบคุมโดยอัตโนมัติ (Automatic Geometric Tolerance) จากกฎเกณฑ์เบื้องต้นในการกำหนดขนาด เช่น กฎข้อที่ 1 ก็ได้

ภาพที่ 3-14 ตัวอย่างแบบงานที่มีการควบคุมพื้นผิวครบสมบูรณ์