Drawing Symbols

สัญลักษณ์ในการเขียนแบบ

สัญลักษณ์ความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปร่างรูปทรง (GD&T Symbols)

การควบคุมรูปร่างรูปทรงของชิ้นงาน (Geometric Dimensioning & Tolerancing, GD&T) เป็นการกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแสดงเงื่อนไขด้านการประกอบ (Assembly Function) และความสัมพันธ์ (Relationship) ระหว่างพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) แกนกลาง (Axis) หรือจุดกึ่งกลาง (Point) ของชิ้นงาน ซึ่งสัญลักษณ์ GD&T ประกอบด้วยสัญลักษณ์ทั้งหมด 14 สัญลักษณ์

ตารางที่ 8-1 สัญลักษณ์ GD&T

กรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame)

การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปทรง จะเขียนในกรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame) กรอบควบคุมรูปลักษณ์จะประกอบด้วย 3 ส่วน ประกอบด้วย สัญลักษณ์ที่ใช้ควบคุมรูปร่างรูปทรง (GD&T Symbol) ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance Value) และดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference) ซึ่งดาตั้มอ้างอิงอาจจะมีหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของการควบคุม ดังแสดงในภาพที่ 8-1

ภาพที่ 8-1 กรอบสัญลักษณ์ GD&T

ตำแหน่งที่ถูกควบคุมจะขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งของกรอบสัญลักษณ์ GD&T ภาพที่ 8-2 แสดงตัวอย่างของการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T โดยแบบงาน (A) เป็นการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T ที่ควบคุมพื้นผิว (Feature) แบบงาน (B) เป็นการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T ที่ควบคุมระนาบกลาง (Center Plane) และแบบงาน (C) เป็นการกำหนดสัญลักษณ์ GD&T ที่ควบคุมแกนกลาง (Center Line)

ภาพที่ 8-2 การกำหนดสัญลักษณ์ GD&T

สัญลักษณ์ดาตั้มอ้างอิง (Datum Symbols)

ดาตั้ม คือ ระนาบ (Plane) แกน (Axis) หรือจุด (Point) ที่ใช้อ้างอิงในการประกอบ (Assembly) ผลิต (Produce) หรือตรวจสอบ (Inspection) การกำหนดดาตั้มจะใช้สัญลักษณ์เขียนแบบ ซึ่งตำแหน่งที่ถูกใช้เป็นดาตั้มจะขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งของสัญลักษณ์ดาตั้มนั้นๆ โดยการกำหนดดาตั้มจะเรียงลำดับจากดาตั้มอันดับที่ 1 (Primary Datum) ดาตั้มอันดับที่ 2 (Secondary Datum) และดาตั้มอันดับที่ 3 (Tertiary Datum) สัญลักษณ์ดาตั้มแสดงในภาพที่ 8-3

ภาพที่ 8-3 สัญลักษณ์ดาตั้ม

รูปแบบของดาตั้มอ้างอิงจะขึ้นอยู่กับการจัดวางตำแหน่งของสัญลักษณ์ดาตั้ม ภาพที่ 8-4 แสดงตัวอย่างของการกำหนดดาตั้มอ้างอิง โดยแบบงาน (A) เป็นการกำหนดให้พื้นผิว (Feature) เป็นดาตั้มอ้างอิง แบบงาน (B) เป็นการกำหนดให้ระนาบกลาง (Center Plane) เป็นดาตั้มอ้างอิง และแบบงาน (C) เป็นการกำหนดให้แกนกลาง (Center Line) เป็นดาตั้มอ้างอิง

ภาพที่ 8-4 การกำหนดสัญลักษณ์ดาตั้ม

สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbols)

สัญลักษณ์ปรับปรุง (Modifier Symbol) เป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดเพิ่มลงในกรอบสัญลักษณ์ GD&T (Feature Control Frame) เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมในเงื่อนไขใช้งาน (Function) มากที่สุด โดยสัญลักษณ์ปรับปรุงจะปรับเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์ใหม่ เช่น ตำแหน่งของการควบคุม การจัดวางขอบเขตพิกัดความคลาดเคลื่อน เป็นต้น ตัวอย่างของสัญลักษณ์ปรับปรุงแสดงไว้ในตารางที่ 8-2

ตารางที่ 8-2 สัญลักษณ์ปรับปรุง

สัญลักษณ์รูเจาะ (Hole Symbols)

การบอกขนาดของรูหรือเกลียว สามารถบอกขนาดที่ภาพด้านบนของรูเจาะด้วยสัญลักษณ์โดยไม่จำเป็นต้องเขียนภาพตัด (Section View) ด้วยสัญลักษณ์รูเจาะ ดังแสดงในตารางที่ 8-3

ตารางที่ 8-3 สัญลักษณ์รูเจาะ