Fundamental Rules for Dimensioning

กฎเกณฑ์เบื้องต้นในการกำหนดขนาด

หน่วยของการวัด (Unit of Measurement)

การกำหนดหน่วยการวัดเป็น มิลลิเมตร จะมีลักษณะดังนี้ ค่าที่น้อยกว่า 1 การเขียนขนาดจะมีเลขศูนย์นำหน้า เช่น 0.25 ตัวเลขที่เป็นจำนวนเต็ม ไม่จำเป็นต้องมีทศนิยมต่อท้าย เช่น 35 ตัวเลขที่เป็นทศนิยม ไม่จำเป็นต้องใส่เลขศูนย์ต่อท้าย เช่น 0.2 ดังแสดงในภาพที่ 6-1

ภาพที่ 6-1 การกำหนดขนาดระบบเมตริก (Metric System)

การกำหนดหน่วยการวัดเป็น นิ้ว จะมีลักษณะดังนี้ ค่าที่น้อยกว่า 1 การเขียนขนาดไม่จำเป็นต้องใส่เลขศูนย์นำหน้า เช่น .25 ขนาดจะต้องมีทศนิยมเท่ากับทศนิยมของพิกัดความเผื่อ เช่น 1.000 ± .005 ดังแสดงในภาพที่ 6-2

ภาพที่ 6-2 การกำหนดขนาดระบบอังกฤษ (English System)

การกำหนดหน่วยการวัดมุม จะใช้เครื่องหมาย ° แทนองศา ' แทน ลิปดา และ " แทน ฟิลิปดา โดยที่ 1° = 60' และ 1' = 60" ซึ่งทั้งการกำหนดขนาดมุมระบบเมตริกและระบบอังกฤษมีการเขียนขนาดเหมือนกัน

ตารางที่ 6-1 สัญลักษณ์ในการเขียนแบบเบื้องต้น

สัญลักษณ์พื้นฐานในการกำหนดขนาด (Basic Dimensioning Symbols)

สัญลักษณ์ในงานเขียนแบบทางด้านวิศวกรรมมีมากมาย ซึ่งการใช้สัญลักษณ์ในการเขียนแบบจะช่วยลดระยะเวลาในการเขียนแบบ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานยังคงสามารถผลิตชิ้นงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบได้เช่นเดิม

ภาพที่ 6-3 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

การกำหนดขนาดตามมาตรฐาน (Dimensioning Rules)

A. การกำหนดขนาด ต้องให้ขนาดครบทุกสัดส่วนและไม่ซ้ำซ้อน

B. ในงานเขียนแบบเครื่องกล ใช้หัวลูกศรปลายทึบดำ

C. ถ้าไม่สามารถเขียนตัวเลขบอกขนาดระหว่างหัวลูกศรได้ สามารถเขียนตัวเลขที่ข้างใดข้างหนึ่งได้

D. ขนาดที่เป็นเส้นผ่านศูนย์กลางจะต้องมีสัญลักษณ์ Ø ก่อนตัวเลขบอกขนาด

E. ถ้าเห็นรูปร่างของชิ้นงานเป็นวงกลมอยู่แล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ Ø ก็ได้

F. ถ้าชิ้นงานเป็นทรงกลมจะต้องเขียนสัญลักษณ์ SR (Sphere Radius) หรือ SØ (Sphere Diameter) ก่อนตัวเลขบอกขนาด

ภาพที่ 6-4 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

G. ผิวแบนราบบนพื้นผิวทรงกระบอกจะต้องเขียนเส้นทแยงมุมที่พื้นผิวนั้น

H. พื้นผิวที่มีรูปหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะต้องมีสัญลักษณ์ Ô ก่อนตัวเลขบอกขนาด

I. ถ้าไม่ใช้สัญลักษณ์ Ô จะต้องกำหนดขนาดในมุมมองที่เห็นชิ้นงานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

J. ควรจะหลีกเลี่ยงตำแหน่งในการกำหนดขนาดบริเวณมุม 30° ทิศทางทวนเข็มนาฬิกาจากแกนอ้างอิงแนวตั้งทั้ง 2 ด้าน

K. ควรจะหลีกเลี่ยงตำแหน่งในการกำหนดขนาดบริเวณมุม 30° ทิศทางทวนเข็มนาฬิกาจากแกนอ้างอิงแนวนอนทั้ง 2 ด้าน

ภาพที่ 6-5 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

L. การกำหนดรัศมีแบบ Fillet ไม่ต้องกำหนดจุดศูนย์กลาง

M. การกำหนดรัศมีแบบ Radius ต้องมีการกำหนดจุดศูนย์กลาง

N. จุดศูนย์กลางที่อยู่ในตำแหน่งที่ไกลมากๆ จะใช้เส้นบอกขนาดที่หักมุม

O. สัญลักษณ์การกำหนดขนาดของส่วนโค้งแบบต่างๆ

ภาพที่ 6-6 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

P. สัญลักษณ์การกำหนดขนาดร่องลิ่ม (Slot) แบบต่างๆ

Q. การกำหนดขนาดตามพิกัด (Coordinate System) ของชิ้นงาน

ภาพที่ 6-7 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

R. ชิ้นงานที่มีรูปร่างสมมาตร สามารถเขียนแบบและบอกขนาดแค่ครึ่งเดียวได้ แต่ต้องมีการใช้เส้นศูนย์กลาง (Center Line)

S. เส้นบอกขนาดจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

T. สัญลักษณ์การกำหนดขนาดรูเจาะแบบต่างๆ

ภาพที่ 6-8 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

U. ขนาดที่เขียนต่อเนื่องและมีขนาดเท่ากัน สามารถใช้สัญลักษณ์การคำนวณแทนได้

ภาพที่ 6-9 สัญลักษณ์พื้นฐานและรูปแบบในการกำหนดขนาด

V. สัญลักษณ์การกำหนดขนาดมุมเรียวแบบต่างๆ

W. ถ้าต้องการบอกทิศทางของขนาดจะใช้การกำหนดขนาดด้วย Dimension origin symbol

กฎเกณฑ์พื้นฐานในการกำหนดขนาด (Dimensioning Rule)

การเขียนแบบทางด้านวิศวกรรม (Engineering Drawing) จะมีกฎเกณฑ์ในการกำหนดขนาด ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบ ผู้เขียนแบบและผู้อ่านแบบ ต้องรู้และเข้าใจก่อนทำงาน

ภาพที่ 6-10 ขนาดที่กำหนดในแบบงานจะต้องมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน

“ขนาดที่กำหนดในแบบงานจะต้องมีค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน”

ขนาดของรูปร่างรูปทรงหรือตำแหน่งที่ปรากฏในแบบงานทางด้านวิศวกรรมต้องมีค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance) เสมอ ซึ่งอาจจะกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนในแบบงานโดยตรง (Direct Tolerance) หรือเกิดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทางอ้อม (Indirect Tolerance) โดยที่ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบ (Functional Tolerance) หรือกระบวนการผลิต (Manufacturing Tolerance) ยกเว้นค่ามากที่สุด (Maximum Value) ค่าน้อยที่สุด (Minimum Value) ขนาดอ้างอิง (Reference Dimension) ขนาดของวัตถุดิบ (Stock Size) และขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) ในบางกรณี

ภาพที่ 6-11 การกำหนดขนาดที่ครบถ้วน

“ขนาดที่กำหนดในแบบงานต้องครบถ้วน”

แบบงานทางด้านวิศวกรรมต้องมีการกำหนดการควบคุมรูปร่างรูปทรง (Geometry) การควบคุมขนาด (Dimension) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance) ให้ครบถ้วน ซึ่งค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปร่างรูปทรงจะถูกกำหนดจาก การกำหนดขนาดลงไปโดยตรงในแบบงาน (Defined Tolerance) การกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (Variable Tolerance)

ภาพที่ 6-12 (ซ้าย) การกำหนดขนาดที่ไม่สามารถทำงานได้ (ขวา) การกำหนดขนาดที่เพียงพอต่อการทำงาน

“ขนาดที่กำหนดในแบบงานจะต้องเพียงพอต่อการทำงาน”

แบบงานทางด้านวิศวกรรมต้องมีการระบุการควบคุมรูปร่างรูปทรง (Geometry) การควบคุมขนาด (Dimension) และค่าพิกัดความคลาดเคลื่อน (Tolerance) ที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการตรวจสอบชิ้นงาน

ภาพที่ 6-13 การกำหนดขนาดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบ

“ขนาดที่กำหนดในแบบงานจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขการประกอบใช้งาน”

ขนาดที่กำหนดลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขกับประกอบ (Assembly) หรือการใช้งาน (Function) และจะต้องแปลความหมายในการทำงานได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งกฎเกณฑ์ข้อนี้จัดเป็นหัวใจของการเขียนแบบและกำหนดขนาดในแบบงาน เนื่องจากการกำหนดขนาดที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิต

ภาพที่ 6-14 ชิ้นงานที่มีการระบุค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่แตกต่างกัน

“ไม่จำเป็นต้องระบุกรรมวิธีการผลิตลงในแบบงาน”

แบบงานทางด้านวิศวกรรมไม่จำเป็นต้องระบุกรรมวิธีการผลิตลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรม เนื่องจากการเลือกกรรมวิธีการผลิตจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต โดยชิ้นงานที่ได้จากการผลิตจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขในแบบงาน ได้แก่ คุณภาพผิว (Surface Properties) รูปทรง (Form) การจัดวางทิศทาง (Orientation) การจัดวางตำแหน่ง (Location) และขนาด (Size) แต่ถ้าผู้ออกแบบระบุกรรมวิธีการผลิตลงไปในแบบงานก็ไม่ผิดกฎเกณฑ์ในการกำหนดขนาดแต่อย่างใด

ภาพที่ 6-15 ตัวอย่างการกำหนดค่าเผื่อหดตัวลงในแบบงาน

“ขนาดในแบบงานเป็นขนาดของชิ้นงานสำเร็จ”

ขนาดที่กำหนดลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมเป็นขนาดของชิ้นงานสำเร็จ (Finished Part) ซึ่งในบางกรณีผู้ออกแบบอาจจะมีความจำเป็นต้องระบุค่าเผื่อหดตัว (Shrinkage Allowance) ค่าเผื่อผิวสำเร็จ (Machine Allowance) หรือความต้องการอื่นๆ ลงไปในแบบงาน

ภาพที่ 6-16 การจัดวางขนาดในแบบงาน (ซ้าย) เหมาะสม (ขวา) ไม่เหมาะสม

“ขนาดที่กำหนดในแบบงานต้องอยู่ในตำแหน่งที่อ่านได้ง่าย”

ขนาดที่กำหนดลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมต้องมีรูปแบบและการจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่ผู้อ่านแบบสามารถอ่านได้ง่าย โดยทั่วไปการกำหนดขนาดในแบบงานจะหลีกเลี่ยงการกำหนดขนาดและสัญลักษณ์ในตำแหน่งที่คลุมเครือ เช่น กำหนดขนาดด้านในภาพ การกำหนดขนาดที่ซ้อนทับกัน การกำหนดขนาดซ้ำซ้อน เป็นต้น

ภาพที่ 6-17 ตัวอย่างการกำหนดขนาดโดยใช้ตัวอักษรและตาราง

“สามารถใช้ตัวอักษรแทนตัวเลขในการกำหนดขนาดได้”

การกำหนดขนาดในแบบงานทางด้านวิศวกรรมสามารถใช้ตัวอักษร (Alphabetic Character) สัญลักษณ์ (Symbol) รหัส (Code) หรือสมการคณิตศาสตร์ (Mathematic Formula) แทนขนาดที่เป็นตัวเลขได้ การกำหนดแบบนี้จะต้องมีการกำหนดตารางแสดงค่าต่างๆ ของชิ้นงานด้วยเสมอ

ภาพที่ 6-18 การแปลความหมายของเส้นที่เขียนตั้งฉากกัน

“เส้นที่ทำมุมฉากในแบบงาน ไม่ต้องกำหนดขนาดมุม 90°”

การกำหนดขนาดในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้กับเส้นของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) หรือแกนกลาง (Axis) ที่มีลักษณะตั้งฉากกันในแบบงาน ไม่จำเป็นต้องระบุขนาดมุม 90° โดยค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนของความตั้งฉากที่เกิดขึ้นจะอ้างอิงได้จากค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance)

ภาพที่ 6-19 การแปลความหมายของเส้นที่เขียนตั้งฉากกันและมีการกำหนดขนาดด้วยขนาดในอุดมคติ

“เส้นที่ทำมุมฉากในแบบงานและมีการกำหนดขนาดในอุดมคติ ไม่ต้องกำหนดขนาดมุม 90°”

การกำหนดขนาดในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้กับเส้นของพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) หรือแกนกลาง (Axis) ที่มีลักษณะตั้งฉากกันในแบบงานและมีการกำหนดขนาดให้กับพื้นผิว ระนาบกลางหรือแกนกลางด้วยขนาดในอุดมคติ (Basic Dimension) ไม่จำเป็นต้องระบุขนาดมุม 90° โดยมุมที่เกิดขึ้นจะเป็นมุมฉากในอุดมคติ (Basic Right Angle)

ภาพที่ 6-20 การกำหนดเส้นศูนย์กลางลงในแบบงาน

“เส้นศูนย์กลางที่เขียนซ้อนกันจะมีระยะห่างเป็นศูนย์ในอุดมคติ”

การเขียนเส้นศูนย์กลาง (Center Line) ของพื้นผิวคู่ขนาน (2 Parallel Surface) ที่ใช้ระนาบกลางร่วมกันหรือพื้นผิวทรงกระบอก (Cylindrical Surface) ที่ร่วมแกนกันในแบบงานทางด้านวิศวกรรม จะใช้เส้นศูนย์กลางเพียงเส้นเดียวและระยะห่างของเส้นศูนย์กลางเหล่านั้นมีค่าเป็นศูนย์ในอุดมคติ (Zero Basic Dimension)

ภาพที่ 6-21 การขยายตัว-หดตัวเนื่องจากการอุณหภูมิ

“ขนาดของชิ้นงานในแบบงานเป็นขนาดที่อุณหภูมิ 20° C (68° F)”

ถ้าไม่มีการระบุเงื่อนไขใดๆ ลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้ถือว่าขนาดที่ได้กำหนดลงในแบบงานเป็นขนาดของชิ้นงานที่อุณหภูมิ 20°C (68°F) อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปจะส่งผลกระทบต่อขนาดขนาดของวัสดุแต่ละชนิด โดยแต่ละวัสดุจะมีค่าสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อน (Coefficient of Thermal Expansion) ที่แตกต่างกัน เช่น เหล็กกล้ามีค่าสัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อน เท่ากับ 11.5 x 10-6 m/mK หมายความว่าขนาดของเหล็กกล้าที่ยาว 1 เมตร จะมีค่าเปลี่ยนไป 11.5 ไมครอน ทุกๆ อุณหภูมิที่เปลี่ยนไป 1 องศาเซลเซียส

ตารางที่ 6-2 สัมประสิทธิ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนของวัสดุต่างๆ

ภาพที่ 6-22 การตรวจสอบขนาดของชิ้นงานที่มีแรงกดวัด

“ขนาดของชิ้นงานในแบบงานเป็นขนาดที่อยู่ในสภาวะที่มีไม่มีแรงกระทำจากภายนอก”

ถ้าไม่มีการระบุเงื่อนไขใดๆ ลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้ถือว่ารูปทรง การจัดวางทิศทาง การจัดวางตำแหน่งและขนาดที่กำหนดในแบบงานเป็นขนาดในสภาวะที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำกับชิ้นงาน (Free State Condition)

ภาพที่ 6-23 การกำหนดขนาดที่ควบคุมแต่ละพื้นผิว

“ขนาดของชิ้นงานในแบบงานจะควบคุมตลอดทั้งความกว้าง ความยาว ความลึกของพื้นผิว”

ถ้าไม่มีการระบุเงื่อนไขใดๆ ลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้ถือว่าขนาดของรูปร่างรูปทรงและตำแหน่งที่กำหนดในแบบงานเป็นขนาดที่ใช้ควบคุมพื้นผิว (Feature) ระนาบกลาง (Plane) หรือแกนกลาง (Axis) ตลอดทั้งความยาว (Length) ความกว้าง (Width) ความสูง (Height) หรือความลึก (Depth) ของชิ้นงาน

ภาพที่ 6-24 ตัวอย่างแบบงานคนละระดับ (ซ้าย) แบบงานหล่อ (ขวา) แบบงานสำหรับผลิตแบบตัดเฉือน

“ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนจะส่งผลกระทบกับแบบงานในระดับเดียวกันเท่านั้น”

ขนาดและค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมส่งผลกระทบกับแบบงานในระดับเดียวกันเท่านั้น ในกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนจำเป็นต้องมีแบบงานหลายๆ ระดับ เนื่องจากผู้เขียนแบบจะไม่สามารถกำหนดขนาด ข้อกำหนดและความต้องการของชิ้นงานในการผลิตทุกกระบวนการ ดังนั้นจึงต้องมีการเขียนแบบงานที่ใช้ในเฉพาะแต่ละกระบวนการผลิต เช่น แบบงานหล่อ (Casting Drawing) แบบงานผลิตแบบตัดเฉือน (Machining Drawing) แบบงานเจียรนัย (Grinding Drawing) แบบงานประกอบ (Assembly Drawing) แบบงานประกอบย่อย (Sub Assembly Drawing) แบบงานเชื่อม (Welding Drawing) แบบสำหรับผลิต (Manufacturing Drawing) เป็นต้น

การเขียนแบบในระดับที่ต่างกัน ผู้ออกแบบจะต้องวิเคราะห์และคำนวณค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะแบบงานที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งของศูนย์ในการทำงาน เพื่อลดข้อผิดพลาดในการผลิตที่เกิดจากค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนสะสม (Stack Up Tolerance)

ภาพที่ 6-25 การกำหนดตำแหน่งด้วยระบบพิกัดอ้างอิง

“ตำแหน่งในแบบงานจะใช้ระบบพิกัดอ้างอิงตามกฎมือขวา”

ถ้าไม่มีการระบุเงื่อนไขใดๆ ลงในแบบงานทางด้านวิศวกรรมให้ถือว่าการอ้างอิงตำแหน่งต่างๆ ในชิ้นงานจะใช้ระบบพิกัดอ้างอิง (Coordinate System) ตามกฎมือขวา (Right Hand Rule) โดยระนาบในการเขียนภาพ 2 มิติลงในกระดาษเขียนแบบจะเป็นระนาบ XY ซึ่งตำแหน่งที่อยู่ด้านซ้ายของศูนย์ชิ้นงานจะเป็นทิศทาง -X ตำแหน่งที่อยู่ด้านขวาของศูนย์ชิ้นงานจะเป็นทิศทาง +X ตำแหน่งที่อยู่ด้านบนของศูนย์ชิ้นงานจะเป็นทิศทาง +Y และตำแหน่งที่อยู่ด้านล่างของศูนย์ชิ้นงานจะเป็นทิศทาง -Y