Surface Properties

คุณลักษณะของพื้นผิว

ความหยาบผิว (Surface Roughness)

กรรมวิธีการผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องมือตัด (Cutting Tool) พื้นผิวของชิ้นงานจะเกิดรอยซึ่งมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิตนั้นๆ ผู้ออกแบบสามารถกำหนดค่าความหยาบผิว (Roughness) และลักษณะของรอยบนพื้นผิว (Lay Direction) ได้โดยการกำหนดสัญลักษณ์ควบคุมคุณสมบัติของพื้นผิว (Surface Roughness Symbol) ลงในแบบงาน

การวิเคราะห์ค่าความหยาบผิวของชิ้นงานจะใช้ค่ามากสุดจากการตรวจสอบ ซึ่งโดยปกติจะเป็นที่เกิดจากการตรวจสอบในทิศทางตามแนวขวางทิศทางหลักของรอยที่เกิดจากทางเดินของเครื่องมือตัด (Lay) และจะไม่นำรอยแตกเล็กๆ บนพื้นผิว (Flow) มารวมในการคำนวณค่าหยาบผิว ซึ่งการวิเคราะห์ค่าความหยาบผิวจะไม่รวมความเบี่ยงเบนทางด้านรูปร่างรูปทรงทั้งหมด (Total Profile) และความเป็นคลื่นของชิ้นงาน (Waviness Profile) ดังแสดงในภาพที่ 3-1

ภาพที่ 3-1 ความหยาบผิว (Surface Roughness)

สัญลักษณ์ความหยาบผิว (Surface Roughness Symbol)

สัญลักษณ์ความหยาบผิวที่กำหนดในแบบงานทางด้านวิศวกรรมจะถูกกำหนดขึ้น เมื่อผู้ออกแบบต้องการควบคุมคุณภาพผิวของชิ้นงาน ซึ่งการกำหนดค่าความหยาบผิวอาจมีการกำหนดค่าความหยาบผิวหรือไม่มีก็ได้

การกำหนดค่าความหยาบผิวและข้อกำหนดต่างๆ ที่สัญลักษณ์ความหยาบผิวจะแตกต่างกันตามตำแหน่งที่ได้กำหนดในสัญลักษณ์ความหยาบผิว ดังแสดงในภาพที่ 3-2

ภาพที่ 3-2 สัญลักษณ์ความหยาบผิว (Surface Roughness Symbol)

ข้อกำหนดของทิศทางการตัดเฉือนจะกำหนดเป็นสัญลักษณ์ แสดงในภาพที่ 3-3 ได้แก่

ภาพที่ 3-3 ลวดลายของพื้นผิว (Lay Direction)

สัญลักษณ์ความหยาบผิวมีรูปแบบการเขียนที่แตกต่างกัน ซึ่งมีตัวอย่างของการเขียน ดังแสดงในภาพที่ 3-4

ภาพที่ 3-4 สัญลักษณ์ความเรียบผิวรูปแบบต่างๆ

สัญลักษณ์ความหยาบผิวตามมาตรฐานใหม่ในปัจจุบันถูกปรับปรุงจากสัญลักษณ์ความหยาบผิวตามมาตรฐานเก่า เนื่องจากมาตรฐานเก่าไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการทำงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบ เช่น ไม่สามารถกำหนดค่าความหยาบผิวได้โดยตรง ไม่สามารถกำหนดกรรมวิธีการผลิตได้ เป็นต้น การเปรียบเทียบมาตรฐานเก่ากับมาตรฐานใหม่แสดงในตารางที่ 1-1

ตารางที่ 3-1 เปรียบสัญลักษณ์และค่าความหยาบผิวตามมาตรฐานเก่าและมาตรฐานใหม่

ตัวอย่างการกำหนดสัญลักษณ์ความหยาบผิวและการแปลความหมาย

กรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกันจะส่งผลให้เกิดค่าความหยาบผิวที่แตกต่างกัน โดยที่ค่าความหยาบผิวที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตแบบต่างๆ จะแสดงในตารางที่ 3-2

ตารางที่ 3-2 ค่าความหยาบผิวในกรรมวิธีการผลิตต่างๆ

ค่าพารามิเตอร์ของความหยาบผิว (Surface Parameters)

พารามิเตอร์ของค่าความหยาบผิวมีมากมาย ซึ่งพารามิเตอร์ที่ใช้กันโดยทั่วไป ได้แก่ Average Roughness (Ra), Determined Roughness (Rz), Maximum Profile Peak Height (Rp), Maximum Profile Valley Depth (Rv) และ Maximum Height of Profile (Rt) 

Average Roughness, Ra คือ ค่าเฉลี่ยของค่าความเบี่ยงเบนที่เป็นค่าสัมบูรณ์ของเส้นกราฟที่ใช้แทนรูปร่างของพื้นผิวชิ้นงานที่เบี่ยงเบนออกจากเส้นเฉลี่ย (Mean Line) ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L) ดังแสดงในภาพที่ 3-5

ภาพที่ 3-5 Average Roughness, Ra

Determined Roughness, Rz (DIN) คือ ค่าเฉลี่ยของระยะระหว่างจุดสูงสุด (Peak) และจุดต่ำสุด (Valley) ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L) ทั้งหมด 5 ช่วง ดังแสดงในภาพที่ 3-6

ภาพที่ 3-6 Determined Roughness, Rz ตามมาตรฐาน DIN

Determined Roughness, Rz (ISO) คือ ค่าเฉลี่ยของจุดสูงสุด (Peak) 5 ค่า และจุดต่ำสุด (Valley) 5 ค่า ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L) ดังแสดงในภาพที่ 3-7

ภาพที่ 3-7 Determined Roughness, Rz ตามมาตรฐาน ISO

Maximum Profile Peak Height, Rp คือ ค่าของระยะที่วัดระหว่างจุดสูงสุด (Peak) กับเส้นเฉลี่ย (Mean Line) ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L)

Minimum Profile Valley Depth, Rv (DIN) หรือ Rm (ISO) คือ ค่าของระยะที่วัดระหว่างจุดต่ำสุด (Valley) กับเส้นเฉลี่ย (Mean Line) ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L)

Maximum Height of Profile, Rt คือ ค่าของระยะที่วัดระหว่างจุดสูงสุด (Peak) กับจุดต่ำสุด (Valley) ในช่วงระยะที่ทำการเก็บค่า (Sample Length, L) ดังแสดงในภาพที่ 3-8

ภาพที่ 3-8 Maximum Height of Profile, Rt