definition

นิยาม

คำอธิบายเรื่องการแปลความหมายสัญลักษณ์ GD&T มีประโยคที่ว่า “สัญลักษณ์สภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition, MMC) เป็นการเปลี่ยนจากการควบคุมตำแหน่ง Centerline ของรู ไปเป็นการควบคุมสภาวะ Virtual Condition หรือค่าความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งจะเกิด Bonus tolerance ที่เปลี่ยนไปตามขนาด Unrelated Actual Mating Envelop ของรู” 

หลายๆ ท่านอาจจะอุทานว่า ศัพท์อะไรเนี่ย!!! ตอนที่ผมทำความเข้าใจกับเรื่อง GD&T ใหม่ๆ ก็อุทานว่า ศัพท์อะไรว่ะเนี่ย!!! เหมือนกัน ฮ่าๆๆ

ถ้าสัญลักษณ์ GD&T เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง “ในแบบงาน” ทางด้านวิศวกรรมที่ทำให้ผู้ออกแบบและผู้ผลิตเข้าใจในทิศทางเดียวกัน การทำความเข้าใจในนิยามและกฎเกณฑ์ก็เป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง “นอกแบบงาน” เช่นกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความหมายในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง 

ศัพท์ของศาสตร์แต่ละอย่างอาจจะมีความหมายที่แตกต่างกันไป เช่น คำว่า Feature ในงาน CAD จะหมายถึงกลุ่มพื้นผิวของ 3D Model ทั้งหมด แต่คำว่า Feature ในงาน GD&T จะหมายถึงผิวชิ้นงานแค่ 1 พื้นผิว และเมื่อเราเข้าใจนิยาม ความคลุมเครือในการทำงานก็จะลดลงและการแปลความหมายสัญลักษณ์ก็จะชัดเจนขึ้น

ตัวอย่างนะครับ ...จากกรอบสัญลักษณ์ GD&T ในภาพที่ให้มา ถ้าเรารู้จักแค่ “ชื่อ” เราจะอ่านสัญลักษณ์ GD&T อย่างตรงไปตรงมาว่า 

“เป็นการควบคุมตำแหน่ง (Tolerance of Position) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter) ของความคลาดเคลื่อน (Tolerance) เท่ากับ 0.02 มม. ในสภาวะเนื้อวัสดุมากสุด (Maximum Material Condition, MMC) อ้างอิงกับดาตั้ม A และดาตั้ม B ในสภาวะขอบเขตวัสดุมากสุด (Maximum Material Boundary, MMB) 

แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถึง “นิยาม” เราจะแปลสัญลักษณ์ GD&T ที่มีความเชื่อมโยงและไม่คลุมเครือว่า 

“เป็นการควบคุมตำแหน่งของแกนกลางที่ตรง (Center Line) ของขอบเขตการประกอบที่ไม่อ้างอิงดาตั้ม (Unrelated Actual Mating Envelope) ของรูที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 มม. ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยยอมให้เกิดค่าความเบี่ยงเบนของตำแหน่ง (Position Deviation) ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของค่าความคลาดเคลื่อน (Tolerance) ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอก (Cylinder Shape) ขนาด 0.02 มม. โดยที่แกนกลางขอบเขตความคลาดเคลื่อน (Tolerance zone) จะจัดวางขนานกับระนาบดาตั้ม A (Datum Plane) และมีระยะห่างจากระนาบดาตั้ม A เท่ากับ 40 มม. และแกนกลางขอบเขตความคลาดเคลื่อนจะตัดกับแกนดาตั้ม B (Datum Axis) พอดีเมื่อดาตั้ม B มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางค่าเท่ากับ 20.1 มม. ถ้ารูมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจริง (Actual Size) โตกว่า 8 มม. จะเกิดค่าความคลาดเคลื่อนพิเศษ (Bonus Tolerance) ซึ่งจะส่งผลให้ค่าความเบี่ยงเบนของตำแหน่งมีค่ามากขึ้น และถ้าเพลาดาตั้ม B มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจริงเล็กกว่า 20.1 มม. จะสามารถเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของดาตั้ม (Datum Displacement) ซึ่งจะส่งผลให้กรอบดาตั้มอ้างอิง (Datum Reference Frame) สามารถขยับหรือหมุนในระดับความเป็นอิสระ (Degree of Freedom) ที่ดาตั้ม B กำลังควบคุมอยู่”

เพราะการแปลความหมายจะต้องแปลแล้ว สามารถทำการผลิตหรือตรวจสอบได้อย่างไม่คลุมเครือ และการทำความเข้าใจนิยามจะเป็นเรื่องในอับดับต้นๆ ก่อนทำการศึกษาเรื่อง GD&T

ถึงตอนนี้ เราเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจศัพท์และนิยามหรือยังครับ