Source of Tolerance

ที่มาของค่าความคลาดเคลื่อน

เราจะหาค่าความคลาดเคลื่อนได้จากที่ไหนคำถามนี้ดูจะเป็นคำถามที่น่าจะตอบได้ง่ายๆ และสามารถหาคำตอบเองได้แต่เชื่อไหมครับว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่เป็นหนึ่งในคำถามที่ผมเจอมากที่สุดในการฝึกอบรมหรือเป็นที่ปรึกษา วันนี้เราจะมาได้รู้กันครับ 

ค่าความคลาดเคลื่อนในการทำงานของขนาดด้านมิติและรูปร่างรูปทรงของชิ้นงานจะมาจาก 5 แหล่งนี้ครับ 

ค่าความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General tolerance) เป็นค่าความคลาดเคลื่อนที่อยู่ที่ Title Block ของแบบงานซึ่งอาจจะมีการกำหนดช่วงของค่าความคลาดเคลื่อนหรืออ้างอิงจากมาตรฐาน เช่น ISO 2768

ค่าความคลาดเคลื่อนที่กำหนดในแบบงาน (Defined tolerance) เป็นการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนโดยตรงลงไปในแบบงาน ซึ่งจะอยู่ในรูปของค่า +/- หลัง Nominal dimension หรือตัวเลขในช่อง Toleance value ของกรอบสัญลักษณ์ GD&T

ความคลาดเคลื่อนที่ได้จากตารางพิกัดงานสวม (Standard tolerance / Fitting tolerance) ค่าความคลาดเคลื่อนที่บอกว่าชิ้นงานนั้นจะต้องถูกใช้ในการประกอบกับชิ้นงานอีกชิ้น ค่าความคลาดเคลื่อนจะอยู่ในรูปของ code ซึ่งหาค่าได้จากตารางในมาตรฐาน ISO 286-2 

ค่าความคลาดเคลื่อนผันแปร (Variable tolerance) เป็นค่าความคลาดเคลื่อนทางด้านรูปร่างรูปทรงที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากกฏเกณฑ์ของขนาด (Limit of size) เช่น ค่าความคลาดเคลื่อนของรูปทรง (Form error) ของชิ้นงานในสภาวะ MMC จะมีค่าน้อยกว่าค่าความคลาดเคลื่อนของรูปทรงที่อยู่ในสภาวะ LMC 

ค่าความคลาดเคลื่อนจากผู้ผลิต (Maker tolerance) เป็นค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการกำหนดกรรมวิธีการผลิต เช่น การผลิตชิ้นงานด้วยการเจียระไนจะได้ค่าความคลาดเคลื่อนน้อยกว่าการผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องกัด 

เมื่อเรารู้ที่มาของค่าความคาดเคลื่อนแล้วคำถามในอันดับถัดไปคือ เราจะกำหนดกลยุทธ์และออกแบบกระบวนการผลิตและกระบวนการตรวจสอบอย่างไร เพื่อให้สามารถควบคุมให้ค่าความคลาดเคลื่อนของชิ้นงานอยู่ในข้อกำหนดของแบบงาน