view

รูปภาพและมุมมอง

ภาพหนึ่งภาพอาจแทนถ้อยคำร้อยถ้อยคำ แต่ถ้าภาพนั้นอยู่ในแบบงานเครื่องกล ภาพหนึ่งภาพอาจแทนคำถามร้อยข้อ

ใช่แล้วครับ วันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องภาพในแบบงานเครื่องกล ซึ่งผมเชื่อว่าพวกเราคงได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติกันอย่างเข้มข้นสมัยที่เราเรียนอยู่ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย แต่ในบทความนี้ ผมขอแบ่งประเภทของภาพในแบบงานออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ภาพ 3 มิติ (Pictorial view) ภาพฉาย (Orthographic view) และภาพขยายความ เช่น ภาพช่วย (Auxiliary view) ภาพตัด (Section view) เป็นต้น 

ภาพ 3 มิติ เป็นภาพที่ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของตำแหน่งพื้นผิวทั้งหมดของชิ้นงานได้ง่าย แต่ก็มีข้อเสียคือเราจะกำหนดขนาดได้ยากและเส้นที่เห็นจะไม่สะท้อนรูปทรงของชิ้นงานที่แท้จริง

ภาพฉายหรือภาพ 2 มิติเป็นภาพที่ถูกใช้เป็นหลักในแบบงานเครื่องกล เนื่องจากภาพฉายสามารถที่จะอธิบายสัดส่วน ขนาดและความสัมพันธ์ในแต่ละมุมมองได้อย่างชัดเจน ผู้ที่สามารถแปลความหมายภาพฉายได้จะต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน และมีประสบการณ์ในการอ่านแบบมาระดับหนึ่ง 

ส่วนภาพช่วย จะเป็นภาพที่ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจในตัวชิ้นงานได้ง่ายขึ้น เมื่อภาพฉายหรือภาพ 3 มิติมีความคลุมเครือ เช่น รายละเอียดของร่องหรือรูด้านในชิ้นงาน ซึ่งภาพตัดจะอธิบายส่วนนี้ได้ชัดเจนขึ้น 

มาตรฐานการวางตำแหน่งภาพฉายมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การจัดวางภาพในมุมมองที่ 1 (First Angle Projection) ที่ใช้ในมาตรฐาน ISO DIN และการจัดวางภาพภาพในมุมมองที่ 3 (Third Angle Projection) ที่ใช้ในมาตรฐาน ASME JIS 

นอกจากนี้ในการอ่านแบบ เราจะต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของเส้นที่ใช้ในการเขียนแบบด้วยว่าลักษณะของเส้นแต่ละแบบหมายถึงอะไร โดยเส้นหลักๆ ที่ใช้ในการเขียนแบบจะมี เส้นเต็ม (Visible line) เส้นปะ (Hidden line) เส้นศูนย์กลาง (Center line) เส้นลูกโซ่ (Phantom line) เส้นตัดชิ้นงานบางส่วน (Soft breaking line) และเส้นตัดชิ้นงานทั้งหมด (Hard breaking line)

การทำความเข้าใจภาพฉาย ถือว่าเป็นจุดสำคัญจุดแรกเพื่อการแปลความหมายสัญลักษณ์ GD&T โดยเราจะต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือผิว อะไรแกนกลาง อะไรคือระนาบกลาง เป็นต้น และถ้าเราไม่สามารถวิเคราะห์ภาพฉายได้ เราก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าขนาดและสัญลักษณ์ GD&T ที่กำหนดลงไปในแบบงานกำลังควบคุมอะไรอยู่