general tolerance

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป

เราไม่สามารถผลิตและตรวจสอบชิ้นงานได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าค่าความคลาดเคลื่อนของขนาดที่เราต้องการผลิตมีค่าเท่าไหร่? 

วันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทความครั้งที่แล้ว เรื่องของค่าความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General Tolerance) ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งใน Title block

ในกระบวนการผลิตชิ้นงาน จะเกิดค่าความเบี่ยงเบน (Deviation) ในกระบวนการเสมอ จะมากก็น้อยก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของกระบวนการผลิต ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องรู้ว่าผู้ออกแบบยอมให้เกิดค่าความเบี่ยงเบนมากที่สุดเท่าไหร่ในกระบวนการเพื่อที่จะเลือกออกแบบ เลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักรที่เหมาะสม และค่าการเบี่ยงเบนมากที่สุดที่สามารถยอมรับได้ก็คือ ค่าความคลาดเคลื่อน 

ในตำแหน่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการประกอบใช้งาน มักจะมีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนลงไปในแบบงานโดยตรง ส่วนตำแหน่งที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานมากนัก มักจะกำหนดแค่ขนาดเพียงอย่างเดียว โดยค่าความคลาดเคลื่อนจะหาได้จากตารางค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป (General tolerance) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากตารางหรือมาตรฐาน 

อย่างน้อยๆ ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปจะต้องมีค่าของขนาดด้านมิติ (Size) ค่าของมุม (Angular dimension) ค่าของรูปร่างรูปทรงบางตัว (Geometry) ค่าการลบมุม (Fillet / Chamfer) ค่าความหยาบผิว (Roughness) ค่าของสกรูหรือเกลียว (Screw and Thread) นอกจากนี้อาจจะมีการกำหนดค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของชิ้นงานที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นคืออะไร เช่น ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปการบิดตัวของงานรีดอลูมิเนียม เป็นต้น

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปในบางงาน อาจจะมีตารางที่เป็นมาตรฐาน เช่น ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปของงานตัดเฉือนโลหะจะใช้ ISO 2768 หรือค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปของงานหล่อจะใช้ ISO 8026 เป็นต้น

ค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไปจะมีขอบเขตที่กว้างกว่าค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนที่กำหนดลงไปในแบบงาน ดังนั้นปัญหาด้านการควบคุมกระบวนการผลิตและกระบวนการตรวจวัดชิ้นงานมักจะไม่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งที่ควบคุมด้วยค่าพิกัดความคลาดเคลื่อนทั่วไป แต่จะมีปัญหากวนใจเล็กๆ ในกระบวนการทำงานที่เกิดจาก “จะเอาค่าอะไรมากำหนดเกณฑ์การตรวจวัดในตำแหน่งที่ไม่มีการระบุค่าความคลาดเคลื่อน”