drawing paper

จุดเริ่มต้นของแบบ คือ กระดาษเขียนแบบ

เมื่อพูดถึงสัญลักษณ์ GD&T เรามักจะนึกถึงสัญลักษณ์ที่ใช้ในการควบคุมรูปร่างรูปทรงจำนวน 5 กลุ่ม สัญลักษณ์ ได้แก่ รูปทรง (Form) ทิศทาง (Orientation) ตำแหน่ง (Location) ความเบี่ยงเบนจากการหมุน (Runout) และรูปโครงร่าง (Profile)

แต่จริงๆ แล้ว GD&T มีส่วนเชื่อมโยงที่สำคัญและจำเป็นมากกว่านั้น การรู้แค่เพียงแค่สัญลักษณ์อย่างเดียวไม่อาจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ความเชื่อมโยงที่ว่า คือ นิยาม กฏเกณฑ์ ข้อกำหนด ข้อจำกัด การแปลความหมาย เงื่อนไข ความต้องการ ซึ่งทุกอย่างจะถูกกำหนดลงไปในแบบงาน

วันนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยเรื่องง่ายๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแบบงานที่ดี นั่นก็คือเรื่องของกระดาษเขียนแบบ กระดาษเขียนแบบที่เราใช้ในงานในการเขียนแบบทางด้านเครื่องกลเป็นขนาดเดียวกับขนาดกระดาษที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป คือ กระดาษใน Serie A ตามมาตรฐาน ISO 216 หรือ DIN 476 โดยขนาด A0 จะมีขนาดใหญ่สุดและไล่เรียงลงมาเป็น A1 A2 A3 A4 A5 ...

ขนาดกระดาษเล็กสุดที่ใช้ในการเขียนแบบ คือ A4 และจุดเด่นของกระดาษ Serie A ก็คือ ไม่ว่าเราจะสั่งพิมพ์งานจากต้นฉบับออกมาในกระดาษไซส์ไหนก็ตาม รูปภาพที่ถูกพิมพ์ออกมาจะมีสัดส่วนที่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือมี Scale ที่ย่อ-ขยาย เท่าๆ กันในทุกด้าน 

ปัจจุบัน การใช้กระดาษเขียนแบบเริ่มน้อยลงและจะใช้กระดาษก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ หลายโรงงานเริ่มพัฒนาระบบการจัดการไปสู่รูปแบบของ Model-Based Enterprise (MBE) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาทางด้านวิศวกรรม ด้วยการใช้ไฟล์แบบงาน 3 มิติ (3D Model-based definition, MBD) มาใช้สื่อสารระหว่างส่วนออกแบบกับส่วนการผลิต (Product and Manufacturing Information, PMI) เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพ

นี้คือเรื่องที่ 1 จากหลายๆ เรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับ GD&T แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาพูดคุยอธิบายไม่นานเวลาฝึกอบรม แต่ผมก็มักจะเริ่มต้นการอบรมเรื่อง GD&T ด้วยประโยคว่า “ทราบไหมครับว่า มีอะไรซ่อนอยู่ในกระดาษเขียนแบบบ้าง?”