What is oee?

ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพของเครื่องจักร

เราจะวัดประสิทธิภาพของเครื่องจักรได้อย่างไร

ทุกกระบวนการผลิตล้วนแสวงหาความสมบูรณ์แบบของกระบวนการ ความสามารถในการควบคุม การวางแผนและสามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ 

ซึ่งระบบการผลิตจะมีดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ การหาค่า OEE (Overall Equipment Effectiveness) ซึ่งจะประกอบด้วยการวิเคราะห์ค่าจาก 3 ส่วน

- Availability -

Availability คือ ความพร้อมในการทำงานจริงๆ

สมมุติว่า เราเป็นคนปอกมะพร้าว ไปถึงสวน 9 โมงเช้า กลับจากสวน 4 โมงเย็น แสดงว่าในแต่ละวันเรามีเวลาที่สามารถปอกมะพร้าวได้ (available time) 7 ชม. หรือ 420 นาที

แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครที่จะปอกมะพร้าวแบบ Non Stop 420 นาทีได้ เราจะต้องมีเวลาเตรียมอุปกรณ์ เตรียมตัว 20 นาที ลับมีด 20 นาที พักเที่ยง 40 นาที พักเบรกช่วงเช้า 10 นาที พักเบรกช่วงบ่ายอีกซัก 10 นาที รวมๆ เวลาที่ไม่ได้ปอกมะพร้าว 100 นาที

แสดงว่า เรามีความพร้อมในการปอกมะพร้าวจริงๆ แค่ 320 นาที เท่านั้น

เราจะคำนวนหาค่าสภาพความพร้อมทำงาน (availability) ได้จาก เวลาที่ปอกมะพร้าวจริงๆ หารด้วยเวลาสามารถปอกมะพร้าวได้ทั้งหมด แล้วแปลงผลลัพธ์ให้อยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์

Availability = Actual Production Time / Potential Production Time x 100%

ดังนั้น สภาพความพร้อมในการปอกมะพร้าว จะเท่ากับ 320/420 = 76.19%

- Performance -

Performance คือ ความสามารถในการทำงานจริงๆ

สมมุติว่า ค่าเฉลี่ยในการปอกมะพร้าว 1 ลูก คือ 5 นาที ซึ่งเป็นเวลามาตรฐานที่ชาวปอกมะพร้าวทุกคนทำได้

ดังนั้นถ้าใช้เวลา 320 นาที ในการปอกมะพร้าว เราก็ควรได้มะพร้าว 64 ลูก

ในวันนั้นเรากลับทำได้เพียง 57 ลูก อาจจะเกิดจากความเมื่อยล้า หรือเปลือกมะพร้าวในวันนี้เหนียวกว่าเมื่อวาน 

แสดงว่าเรามีสมรรถนะในการปอกมะพร้าวจริงๆ ไม่เต็มร้อย

เราจะคำนวณหาค่าสมรรถนะในการทำงาน (performance) ได้จาก จำนวนมะพร้าวที่ปอกได้จริงๆ หารด้วยจำนวนมะพร้าวที่ควรจะปอกได้ แล้วแปลงผลลัพธ์ให้อยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์ 

Performance = Actual Output / Theoretical Output x 100%

ดังนั้น สมรรถนะในการปอกมะพร้าว จะเท่ากับ 57/64 = 89.06%

- Quality -

Quality คือ คุณภาพที่ตรงตามข้อกำหนดจริงๆ

สมมุติว่า เมื่อมีการตรวจสอบคุณภาพของมะพร้าวที่ปอกได้ พบ 5 ลูก ที่ปอกแล้วแหว่งเข้าเนื้อมะพร้าว ขายไม่ได้แน่นอน 

แสดงว่าเรามีคุณภาพในการปอกมะพร้าวไม่เต็มร้อย

เราจะคำนวณหาค่าคุณภาพ (quality) ได้จาก จำนวนมะพร้าวที่ขายได้จริงๆ หารด้วยจำนวนมะพร้าวที่ปอกได้ทั้งหมด แล้วแปลงผลลัพธ์ให้อยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์ 

Quality = Good Product Output / Actual Output x 100%

ดังนั้น ค่าคุณภาพในการปอกมะพร้าว จะเท่ากับ 52/57 = 91.23%

- Overall Equipment Effectiveness -

OEE ก็คือดัชนีชี้วัดความคาดหวังโดยรวมต่อเครื่องจักรในการผลิตนั้นๆ ว่ามันควรจะมีสภาพความพร้อมใช้งานเต็มที่ มีประสิทธิภาพในการทำงานเต็มที่ และสามารถผลิตงานที่มีคุณภาพได้เต็มที่ 

เราจะสามารถคำนวณหาค่า OEE ได้จากผลคูณของค่าเปอร์เซ็นต์ของความพร้อม (availability) สมรรถนะ (performance) และคุณภาพ (quality)

OEE = Availability x Performance x Quality

ดังนั้นค่า OEE ในการปอกมะพร้าว จะเท่ากับ 76.19% x 89.06% x 91.23% = 61.90%

- ค่า OEE ควรเป็นเท่าไหร่ -

การทำงานในระดับ World class

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ค่า OEE ควรจะสูงกว่า 85%

จะเห็นได้ว่า availability จะเป็นความคาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดจากการวางแผน ส่วน performance จะเป็นความคาดหวังผลลัพธ์ที่เกิดจากมาตรฐานการทำงาน ส่วน quality จะเป็นความคาดหวังที่เกิดจากความต้องการของลูกค้า

ดังนั้น การปรับปรุงค่า OEE เพื่อให้ไปถึงระดับ world class มันเป็นเพียงแค่เป้าหมายใหญ่ขององค์กร สิ่งที่ควรเริ่มต้นปรับปรุงก่อน จะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของเราให้ความสำคัญตรงส่วนไหนมากกว่ากัน การวางแผนที่ชัดเจน มาตรฐานที่แข็งแรง หรือความคาดหวังของลูกค้า