boiling egg formula

สมการไข่ต้ม

“ถ้าหนึ่งในอาหารที่ง่ายที่สุดของเรา คือ ไข่ต้ม ปัญหาเรื่องกระบวนการต้มไข่ก็น่าจะเป็นปัญหาที่แก้ได้ง่ายๆ”

จริงๆ แล้วต้องใช้เวลาต้มไข่กี่นาที ไข่จึงจะสุก นี้คือปัญหาง่ายๆ หรือปัญหาที่ซับซ้อน

ถ้าจะมองให้ปัญหาเล็กๆ มันก็ง่าย ถ้าจะมองให้ซับซ้อนมันก็ยาก ถ้าไม่มองก็ไม่มีปัญหา!!!

- ระดับของปัญหา?? -

อะไรคือความแตกต่าง ระหว่างการปัญหา (problem) กับ ปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem)

ก่อนอื่นเราอาจจะต้องมานิยามความหมายของคำว่า “ปัญหา” กันก่อน

ปัญหา คือ "สภาวะที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความรู้สึก รูปแบบหรือผลลัพธ์ทางด้านลบ"

สภาวะที่เกิดขึ้นสภาวะหนึ่งอาจจะเป็นปัญหาของคนหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่ปัญหาของอีกคนหนึ่งก็ได้ เช่น ฝนตกตอนเย็นวันศุกร์ สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในเมือง นี้คือปัญหา แต่สำหรับชาวไร่ชาวนา มันไม่ใช่ปัญหาเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ

ดังนั้นจะเป็นปัญหาหรือไม่ใช่ปัญหาจะขึ้นอยู่กับเราเป็นใครในบริบทนั้น

- ความซับซ้อน?? -

ความซับซ้อน คือ "สภาวะที่เหตุมีส่วนประกอบมาจากหลายส่วน วิธีการเกิดขึ้นได้หลากหลาย มีความไม่รู้และยุ่งเหยิง และผลลัพธ์สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและไม่สามารถคาดเดาได้"

ดังนั้น ความซับซ้อนอาจจะเป็นสภาวะที่เราไม่รู้ความสัมพันธ์ของสิ่งที่เราสนใจได้อย่างชัดเจน

- การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน!! -

การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน จะมีขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ไม่ซับซ้อน

(1) รู้จักส่วนประกอบ

อันดับแรกเลยคือจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นก่อน จะรู้มากหรือรู้น้อยก็ไม่จำเป็นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ต้องรู้

ยกตัวอย่างปัญหาไข่ต้ม อย่างน้อยเราต้องรู้ว่า ไข่คืออะไร น้ำคืออะไร หม้อคืออะไร ไฟคืออะไร ขั้นตอนทำอย่างไร ผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร ฯลฯ

รู้มากขึ้นมาหน่อยก็ ไข่มีคุณสมบัติอย่างไร ความร้อนกี่องศาจึงจะทำให้ไข่สุก ใช้เวลาต้มเท่าไหร่ ใช้น้ำแบบไหนในการต้มได้บ้าง ฯลฯ

(2) บอกเรื่องราวเป็นขั้นตอน

อย่างที่สอง คือ สามารถเล่าเรื่อง ร้อยเรียง เป็นเรื่องราวของสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างสัมพันธ์ เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่ง keyword ของขั้นตอนนี้ คือ ลำดับและตัวเลข

เรื่องเล่าของการต้มไข่ คือ เอาน้ำสะอาดใส่หม้อ แล้วจึงใส่ไข่ลงไปในหม้อ (ลำดับ) เปิดแก๊สเพื่อให้น้ำเดือด หลังน้ำเดือดเต็มที่ จับเวลา 5 นาที (ตัวเลข) เอาไข่ออกจากหม้อ รอให้เย็นก่อนแกะเปลือกรับประทาน

(3) อะไรคือปัญหา??

ขั้นตอนนี้ เป็นการ focus ในสิ่งที่เป็นปัญหา พยายามเลือกมาทีละ 1 ปัญหา และต้องนิยามสิ่งนั้นให้ชัด มีเหตุผลด้วยว่าปัญหานั้นส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างไรจะดีมาก

ตัวอย่างปัญหานี้ คือ ไม่รู้เวลาต้มไข่ที่เหมาะสม ถ้าใช้เวลาต้มไข่มากไปก็เปลืองแก๊ส ใช้เวลาต้มไข่น้อยไปก็ไม่สุก

(4) ลงลึกส่วนสนใจ

ขั้นตอนนี้ คือ การความสัมพันธ์และลงลึกใน issue ที่เราสนใจ วิเคราะห์และลงลึก ว่าอะไรคือสิ่งที่เกี่ยวข้อง อะไรคือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับแรกๆ ที่สังเกตได้แล้วลงลึกไปเรื่อยๆ

ถ้าสิ่งที่อยากรู้ คือ เวลาเหมาะสมในการต้มไข่ให้สุก เราก็คงจะไม่สนใจว่าหม้อต้มทำมาจากวัสดุอะไร ใช้เตาแก๊สหรือเตาถ่านดี แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเวลาต้มไข่น่าจะเป็น อุณหภูมิของน้ำ อุณหภูมิของไข่ ปริมาณน้ำ อัตราการนำความร้อนของเปลือกไข่ เป็นต้น

โดยคำตอบที่ได้ เราอาจจะสามารถสรุปอยู่ในรูปตัวเลข วิธีการ ขั้นตอน สูตร สมการ ฯลฯ

(5) ลงมือแทรกแซงเพื่อหาคำตอบ

ขั้นตอนสุดท้ายคือ การหาคำตอบ โดยการแทรกแซงกระบวนการต่างๆ โดยการวางแผนอย่างเป็นระบบ

การแทรกแซง คือ การตัด ปรับ เปลี่ยน เพิ่ม ตัวแปรต่างๆ เพื่อเก็บผลลัพธ์ในเงื่อนไขต่างๆ เมื่อผลลัพธ์มีมากพอจึงทำการวิเคราะห์หาขอสรุป

การออกแบบเพื่อแทรกแซง อาจเป็นการสังเกต การทดลอง การคำนวน การวิเคราะห์โดยใช้คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

โดยคำตอบที่ได้ เราอาจจะสามารถสรุปอยู่ในรูปตัวเลข วิธีการ ขั้นตอน สูตร สมการ ฯลฯ

… แล้วสุดท้ายเราก็ได้คำตอบของคำถามที่ว่า เวลาที่เหมาะสมในการต้มไข่ ที่อยู่ในรูป “สมการไข่ต้ม”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความซับซ้อนของปัญหาจะอยู่ที่การพิจารณาระดับของความเชื่อมโยงของตัวแปร

เราอาจจะบอกว่าเวลาต้มไข่คือ ต้มลงน้ำเดือดอย่างน้อย 6 นาที หรือนั่งคำนวณเวลาต้มโดยใช้สมการไข่ต้ม

แน่นอนครับว่า สิ่งที่ได้อาจจะไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ได้จะทำให้ความซับซ้อนของปัญหาน้อยลง เมื่อเราต่อยอดและหาคำตอบได้มากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะได้วิธีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้เอง