Dimension Characteristic

รูปแบบของการกำหนดขนาดแบบต่างๆ

การเขียนแบบ technical drawing จะมีรูปแบบของการกำหนดขนาดหลายแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะบอกถึงเงื่อนไขในการใช้งานและความต้องการของผู้ออกแบบ ซึ่งผู้อ่านแบบจะต้องรู้และเข้าใจว่ารูปแบบของการกำหนดขนาดแต่ละรูปแบบมีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษบ้าง

รูปแบบการการกำหนดขนาดแบบต่างๆ ตามแบบ A-Z จากรูปด้านบนจะมีชื่อเรียกดังนี้ครับ

A. ขนาด Nominal dimension เป็นตัวเลขของขนาดเริ่มต้นในการเขียนแบบ ค่าความคลาดเคลื่อนในการทำงานจะได้จาก General tolerance ที่กำหนดใน Title block หรือใช้การอ้างอิงตารางตามมาตรฐาน

B. ขนาดที่มีการกำหนดด้วย Origin dimension ใช้สัญลักษณ์ "วงกลม" แทน "หัวลูกศร" ในด้านที่ต้องการกำหนดให้ด้านนั้นเป็นด้านอ้างอิง (Reference) ในการควบคุมขนาด

C. ขนาดที่มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนแบบ Equal bilateral tolerance จะมีค่าความคลาดเคลื่อนทางด้าน Upper tolerance และ Lower tolerance จากค่า Nominal dimension ที่เท่ากัน การกำหนดขนาดแบบนี้อาจเรียกว่า Plus/Minus tolerance

D. ขนาดที่มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนแบบ Unilateral tolerance จะมีค่าความคลาดเคลื่อนทางด้าน Upper tolerance หรือ Lower tolerance เพียงด้านเดียวเท่านั้น อีกด้านหนึ่งจะมีค่าความคลาดเคลื่อนเป็นศูนย์

E. ขนาดที่มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนแบบ Unequal bilateral tolerance มีค่าความคลาดเคลื่อนทั้งสองด้าน โดยแต่ละด้านจะมีค่าความคลาดเคลื่อนไม่เท่ากัน

F. ขนาด Limit dimension เป็นการกำหนดค่ามากสุด (Maximum value) และค่าน้อยสุด (Minimum value) ลงในแบบงานโดยตรง

G. ขนาด Reference dimension เป็นขนาดที่ใช้ในการอ้างอิงในการทำงานเท่านั้น ไม่ต้องตรวจสอบในระดับ inspection data report 

H. ขนาดที่มีการกำหนดพิกัดงานสวม (Fitting tolerance / Standard tolerance) ของรู ตัวอักษรภาษาอังกฤษ "ตัวใหญ่" จะเป็นการควบคุมขนาดที่เป็นร่องหรือรูเป็นหลัก (Hole basis system) ส่วนตัวเลขด้านหลังจะเป็นค่า IT number เพื่อบอกระดับของความคลาดเคลื่อน

I. ขนาดที่มีการกำหนดพิกัดงานสวม (Fitting tolerance / Standard tolerance) ของเพลา ตัวอักษรภาษาอังกฤษ "ตัวเล็ก" จะเป็นการควบคุมขนาดที่เป็นแท่งหรือเพลาเป็นหลัก (Shaft basic system) ส่วนตัวเลขด้านหลังจะเป็นค่า IT number เพื่อบอกระดับของความคลาดเคลื่อน

J. ขนาดที่มีการกำหนดพิกัดงานสวม (Fitting tolerance / Standard tolerance) ทั้งรูและเพลาในการบอกขนาดเพียงครั้งเดียว สามารถกำหนดในแบบภาพประกอบ (Assembly drawing) เท่านั้น

K. ขนาดรัศมี (Radius) ใช้ควบคุมระยะห่างของพื้นผิวเมื่อเทียบกับจุดอ้างอิงในพิกัด 2 มิติ

L. ขนาดรัศมีทรงกลม (Sphere radius) ใช้ควบคุมระยะห่างของพื้นผิวเมื่อเทียบกับจุดอ้างอิงในพิกัด 3 มิติ

M. รัศมีควบคุม (Control radius) จะใช้ควบคุมการลบมุมโค้งด้านใน (Internal radius) เพื่อให้ผิวที่ต้องการควบคุมมีลักษณะเป็นผิวโค้งสวยงาม (fair curve)

N. ขนาดในอุดมคติ (Basic dimension) เป็นขนาดตามทฤษฎี ไม่มีค่าบวกลบ มีค่าความคลาดเคลื่อนทางอ้อม (Inderect tolerance) ใช้ร่วมกับสัญลักษณ์ GD&T, สัญลักษณ์ Datum target หรือเงื่อนไขควบคุมพิเศษในบางกรณี

O. ขนาดตรวจสอบ (Inspection dimension) เป็นขนาดที่จะเน้นให้แผนกควบคุมคุณภาพพิจารณาเป็นพิเศษ (Critical to quality) เช่น อาจจะเป็นขนาดที่ต้องมีการตรวจสอบ 100%

P. ขนาดความยาวส่วนโค้ง (Arc length) ใช้ควบคุมระยะทางตามแนวเส้นโค้งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนพื้นผิว

Q. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter) ของวงกลมหรือทรงกระบอก เป็นการควบคุมขนาดที่ผ่านจุดศูนย์กลางจากด้านหนึ่งของพื้นผิวไปยังอีกด้านหนึ่งของพื้นผิวที่มีลักษะเป็นทรงกระบอกหรือทรงกลมบนพิกัดระนาบ 2 มิติ

R. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (Sphere diameter) ของทรงกลม เป็นการควบคุมขนาดที่ผ่านจุดศูนย์กลางจากด้านหนึ่งของพื้นผิวไปยังอีกด้นหนึ่งของพื้นผิวที่มีลักษะเป็นทรงกลม ในพิกัด 3 มิติ

S. ขนาดรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Square) เป็นการบอกขนาดของพื้นผิวที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

T. ขนาดที่มีค่าไม่ตรงกับสัดส่วนของภาพ (Not to scale dimension) เป็นการบอกขนาดที่มีค่าตัวเลขที่เขียนในแบบงานไม่ตรงกับสัดส่วนภาพของงานจริง

U. ขนาดที่มีการกำหนดเงื่อนไข Envelop principle หมายถึง การกำหนดให้ "ใช้กฏข้อที่ 1" (Rule #1) ในการควบคุมขนาดที่ตำแหน่งนั้น

V. ขนาดที่มีการกำหนดเงื่อนไข Independency principle หมายถึง การกำหนดให้ "ยกเลิกการควบคุมด้วยกฏข้อที่ 1" ของตำแหน่งที่มีการกำหนดขนาดนั้น

W. ขนาดที่มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนที่ต้องมีการควบคุมทางด้านสถิติ (Statistical control) ต้องมีการกำหนดค่าดัชนีชี้วัดความสามารถของกระบวนการ (process capability index) มาด้วย

X. การกำหนดจำนวนด้วย 4X หรือ 4- หรือ (4x) ด้านหน้าขนาด จะหมายถึงจำนวนตำแหน่ง (Number of place) ที่ควบคุมด้วยขนาดนี้ จะมีจำนวน 4 ตำแหน่ง โดยที่เงื่อนไขของการควบคุมทุกตำแหน่งจะเหมือนกัน

Y. ขนาดที่มีการกำหนดเงื่อนไข Continuous feature คือ พื้นผิวหลายๆ พื้นผิวจะถูกควบคุมให้มีความสัมพันธ์กันเสมือนว่าเป็นพื้นผิวเดียวกัน

Z. ขนาดเฉลี่ย (Average dimension) เป็นขนาดที่ใช้ควบคุมค่าเฉลี่ยของชิ้นงาน 

นี้เป็นเพียงบางส่วนของรูปแบบขนาดที่มีการกำหนดในแบบงานเครื่องกลเท่านั้นครับ

ยังมีรูปแบบของการกำหนดขนาดได้อีกหลายแบบ เช่น ขนาดมุม (Angular dimension) ขนาดที่มีข้อกำหนดพิเศษ (Critical dimension) ขนาดความยาวรอบรูป (Perimeter dimension) เป็นต้น

ซึ่งการแปลความหมายของขนาดในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทั้งผู้เขียนแบบและผู้อ่านแบบจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเป็นอย่างดีก่อนการทำงานครับ